20 ธันวาคม 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Stopfake (ยูเครน)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ทำให้เข้าใจผิด
บทสรุป:
- แม้หลายประเทศจะฉีดวัคซีนโควิด 19 อย่างแพร่หลาย แต่หากยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่การระบาดก็ยังเกิดขึ้นได้
- การกลายพันธุ์ของไวรัสและประสิทธิผลของวัคซีนที่ไม่เท่ากัน ต่างส่งผลต่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทั้งสิ้น
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศยูเครน โดยอ้างว่าในบรรดาประเทศที่โควิด 19 ระบาดอย่างหนัก ล้วนเป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด 19 สูง แสดงให้เห็นว่าวัคซีนไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันการแพร่เชื้อ
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
เหตุผลที่ทำให้ประเทศที่อัตราการฉีดวัคซีนโควิด 19 สูง แต่ยอดผู้ติดเชื้อไม่ลดลง มีสาเหตุจากหลายปัจจัย โดย The Conversation สื่อของประเทศออสเตรเลียสรุปเป็นหัวข้อได้ดังนี้
1.ยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
หากยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ โอกาสที่ยอดผู้ติดเชื้อจะลดลงก็เป็นไปได้ยาก มีการคาดการณ์ว่าภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นได้ แต่ละประเทศจะต้องมียอดการฉีดวัคซีนครบโดสสูงกว่า 60% เป็นอย่างน้อย
จากการสำรวจของเว็บไซต์ Our World In Data เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2021 พบว่าสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสที่ 61.4%, บราซิลมีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดส 66.6% ขณะที่อินเดียมีอัตราการฉีดครบโดสแค่ 39.5% เท่านั้น
2.ประสิทธิผลที่แตกต่างของวัคซีนแต่ละชนิด
วัคซีนที่มีประสิทธิผลป้องกันโรคที่สูง การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จะสำเร็จได้ง่ายกว่า ส่วนวัคซีนที่มีประสิทธิผลป้องกันโรคต่ำ จำเป็นจะต้องเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศให้สูงขึ้นเพื่อจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
ผลการศึกษาของสถาบัน Kirby Institute ประเทศออสเตรเลีย พบว่า หากฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิผลประมาณ 90% ต่อไวรัสโควิด 19 ทุกสายพันธุ์ให้กับประชาชนทั่วประเทศ ภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นได้ถ้าอัตราการฉีดวัคซีนสูงกว่า 66%
แต่หากฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิผลประมาณ 60% ภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อประชาชนทั้งประเทศเข้ารับการฉีดวัคซีนครบ 100%
ในกรณีที่ใช้วัคซีนที่มีประสิทธิผลน้อยกว่า 60% โอกาสเกิดภูมิคุ้มกันหมู่แทบจะเป็นไปไม่ได้
3.การกลายพันธุ์ของไวรัสทำให้การระบาดเพิ่มขึ้น ทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนลดลง
การระบาดอย่างต่อเนื่องในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เป็นสาเหตุให้ไวรัสโควิด 19 เกิดการกลายพันธุ์ ซึ่งการกลายพันธุ์แต่ละครั้งยังทำให้ไวรัสติดเชื้อได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
การประมินของ The Conversation พบว่าโควิด 19 สายพันธุ์ D614G ซึ่งระบาดอย่างหนักในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือช่วงต้นปี 2020 มีค่าระดับการติดเชื้อพื้นฐานหรือค่า R0 ที่ 2.5 ซึ่งเท่ากับว่าผู้ติดเชื้อ 1 คนสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ประมาณ 2.5 คน
สายพันธุ์อัลฟ่า ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ D614G ประมาณ 43-90% และมีค่า R0 ที่ 4.5
สายพันธุ์เดลต้า ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า 50% และมีค่า R0 สูงมากกว่า 7 ทำให้การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องใช้วัคซีนประสิทธิผลสูงเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
นอกจากสัดส่วนการฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรแล้ว การเลือกวัคซีนให้ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดก็เป็นสิ่งจำเป็น
ส่วนปัญหาการขนส่งและจัดเก็บวัคซีน ก็มีผลต่อการลดทอนประสิทธิผลของวัคซีนและทำให้การฉีดวัคซีนไม่ได้ผล
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.stopfake.org/ru/manipulyatsiya-novyh-sluchaev-covid-19-bolshe-vsego-v-stranah-liderah-po-vaktsinatsii/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter