09 พฤศจิกายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีคลิปวิดีโอข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ โดยอ้างว่ากองทัพอิสราเอลได้นำระบบป้องกันภัยทางอากาศด้วยแสงเลเซอร์หรือ Iron Beam มาใช้รับมือการโจมตีขีปนาวุธของกลุ่มฮามาสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังคลิปวิดีโอการโจมตีจรวดด้วยแสงเลเซอร์ 2 คลิปถูกนำมาเผยแพร่ทางโลกออนไลน์
บทสรุป :
- กระทรวงกลาโหมอิสราเอลยืนยันว่ายังไม่มีการใช้ Iron Beam ในสงครามอิสราเอล-ฮามาสแต่อย่างใด
- บางคลิปที่ถูกแชร์นำมาจากภาพในวิดีโอเกม
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
Iron Beam หรือระบบป้องกันภัยทางอากาศที่พัฒนามาตั้งแต่ปี 2014 เป็นระบบที่ใช้ปืนเลเซอร์พลังงานสูงยิงสกัดกั้นการโจมตีทางอากาศ ทั้งจากขีปนาวุธ กระสุนปืนครก โดรน จนถึงจรวดต่อต้านรถถัง ใช้ป้องกันการโจมตีพิสัยใกล้จากระยะหลักร้อยเมตรจนถึง 9 กิโลเมตร
แม้ นัฟตาลี เบนเนตต์ อดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอลซึ่งร่วมชมการทดลองระบบ Iron Beam เมื่อปี 2022 จะคาดว่าระบบจะพร้อมใช้ภายในปี 2023 รวมถึงความน่าจะเป็นของการเปิดตัวระบบ Iron Beam ระหว่างสงครามอิสราเอล-ฮามาส แต่ทีมงานของบริษัท Rafael Advanced Defense Systems ผู้พัฒนาระบบ Iron Beam ชี้แจงว่าต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าระบบ Iron Beam จะสามารถนำมาใช้ได้จริง
ขณะที่โซเชียลมิเดียมีการแชร์คลิปวิดีโอที่เชื่อว่าเป็นหลักฐานการทำงานของระบบ Iron Beam แต่การตรวจสอบโดย Fact Checker ในต่างประเทศยืนยันว่า คลิปวิดีโอเหล่านั้นไม่ใช่การทำงานของ Iron Beam ตามที่กล่าวอ้าง
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงยืนยันต่อสำนักข่าว USA Today ว่าคลิปวิดีโอตัวแรกที่ถูกแชร์ไม่ใช่การทำงานของ Iron Beam ส่วนโฆษกของกระทรวงกลาโหมอิสราเอลยืนยันต่อผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของ PolitiFact ว่า ยังไม่มีการนำระบบ Iron Beam มาใช้ในสงครามครั้งนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ นัฟตาลี เบนเนตต์ อดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอลที่ร่วมชมการทดลองระบบ Iron Beam เคยบรรยายการทำงานของ Iron Beam ว่า “เงียบและไร้ร่องรอย” ซึ่งแตกต่างจากคลิปที่แชร์ทางออนไลน์
ส่วนคลิปที่อ้างว่าเป็นการทำงานของระบบ Iron Beam ตัวที่ 2 ซึ่งทำยอดวิวทาง X กว่า 5.8 ล้านครั้ง ได้รับการยืนยันจากผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของ Full Fact ว่าเป็นภาพที่นำมาจาก Arma 3 วิดีโอเกมจำลองสถานการณ์การยิงเชิงกลยุทธ์และวิดีโอเกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (FPS) ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2013
ด้วยจุดเด่นด้านการออกแบบที่เน้นความสมจริงในสมรภูมิรบอย่างสูง ทำให้หลายฉากใน Arma 3 ถูกนำไปใช้สร้างข่าวปลอมเกี่ยวกับสงครามอิสราเอล-ฮามาสบ่อยครั้ง
ล่าสุด Bohemia Interactive บริษัทผู้พัฒนาวิดีโอเกม Arma 3 จากสาธารณรัฐเชก ได้ประกาศแถลงการณ์ทางเว็บไซต์เพื่อเตือนภัยการใช้วิดีโอเกมมาสร้างข่าวปลอม และแนะนำ 8 เคล็ดลับเพื่อใช้สังเกตและตรวจสอบการนำฉากในวิดีโอเกมมาสร้างข้อมูลเท็จ
1.ใช้ภาพรายละเอียดต่ำ
2.จงใจให้ภาพสั่น
3.ฉากมักอยู่ที่มืดหรือเกิดในตอนกลางคืน
4.ไม่มีเสียงประกอบ
5.เลี่ยงการนำเสนอภาพเคลื่อนไหวของผู้คน
6.มีการแสดงข้อมูลหน้าจอ
7.การเคลื่อนที่ของวัตถุไม่เป็นธรรมชาติ
8.เครื่องแบบ อุปกรณ์ และยานพาหนะไม่ตรงกับความเป็นจริง
ข้อมูลอ้างอิง :
https://fullfact.org/online/iron-beam-arma-3/
https://www.politifact.com/article/2023/oct/19/did-israel-use-its-laser-weapon-iron-beam-for-the/
https://www.usatoday.com/story/news/factcheck/2023/10/19/false-claim-video-shows-firing-of-israeli-laser-weapon-iron-beam-fact-check/71217291007/
https://www.bohemia.net/blog/arma-3-footage-being-used-as-fake-news
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter