19 มิถุนายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
บทสรุป :
- การบำบัดเพื่อการข้ามเพศในเด็ก (Gender-Affirming Care) สำหรับเด็กที่มีภาวะ Gender Dysphoria มีการทดลองมาอย่างยาวนาน
- มีการกำหนดอายุที่เหมาะสมสำหรับการบำบัดเพื่อการข้ามเพศในเด็กอย่างชัดเจน
- การบำบัดเพื่อการข้ามเพศไม่จำเป็นต้องใช้ยา, ฮอร์โมนทดแทน หรือการผ่าตัดเสมอไป
- ผลกระทบระยะยาวต่อร่างกายจากการบำบัดเพื่อการข้ามเพศในเด็กยังอยู่ในระหว่างการศึกษา
- งานวิจัยมากมายยืนยันว่าการบำบัดเพื่อการข้ามเพศในเด็กช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและลดความเครียดให้กับเด็กที่มีภาวะ Gender Dysphoria อย่างชัดเจน
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทาง Instagram ในสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่า การบำบัดเพื่อการข้ามเพศ (Gender-Affirming Care) สำหรับเด็กและเยาวชนยังเป็นการรักษาอยู่ในการทดลองเท่านั้น และไม่รู้ว่าผลกระทบระยะยาวต่อเด็กที่เข้ารับการบำบัดทั้งจากยาและการผ่าตัดจะเป็นเช่นไร
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
การบำบัดเพื่อการข้ามเพศ (Gender-Affirming Care) คือ การช่วยเหลือและให้คำปรึกษาเพื่อการยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศ ให้แก่ผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Gender Dysphoria หรือการทุกข์ทรมานใจที่เกิดจากความไม่สอดคล้องระหว่างอัตลักษณ์ทางเพศและเพศกำเนิด
สมาคมวิชาชีพโลกว่าด้วยสุขภาพของคนข้ามเพศ (World Professional Association for Transgender Health หรือ WPATH) หน่วยงานซึ่งกำหนดแนวทางการบำบัดเพื่อการข้ามเพศ ระบุว่าวิธีการดังกล่าวไม่ได้มีแค่การใช้ยาหรือการผ่าตัดเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญต่างยืนยันว่า การบำบัดเพื่อการข้ามเพศสำหรับเด็กและเยาวชน เป็นกระบวนการที่ผ่านการศึกษาวิจัยจากสถาบันชั้นนำมาแล้วมากมาย อาทิ สมาคมต่อมไร้ท่อสหรัฐอเมริกา (Endocrine Society) สถาบันกุมารเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (AAP) และ WPATH
สำนักงาน Office of Population Affairs ของกระทรวงบริการด้านสุขภาพและมนุษย์แห่งสหรัฐอเมริกา กำหนดขั้นตอนการบำบัดเพื่อการข้ามเพศสำหรับเด็กและเยาวชนเอาไว้ 4 ขั้นตอน ได้แก่
1.ทดลองใช้ชีวิตแบบเพศตรงข้าม (Social Affirmation)
2.ได้รับยาปิดกั้นฮอร์โมนเพศของตน (Puberty Blockers)
3.ได้รับฮอร์โมนของเพศตรงข้าม (Gender-Affirmation Hormone Therapy)
4.ผ่าตัดแปลงเพศ (Gender-Affirming Surgery)
- Social Affirmation
เป็นขั้นตอนเริ่มต้นของการบำบัดเพื่อการข้ามเพศสำหรับเด็กและเยาวชน โดยเปิดโอกาสให้เด็กที่มีปัญหา Gender Dysphoria ได้เปลี่ยนชื่อ สรรพนาม การแต่งกาย ทรงผม การใช้ห้องน้ำและร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ให้สอดคล้องตามอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง
- Puberty Blockers
เป็นขั้นตอนการใช้ยาฮอร์โมนสังเคราะห์ GnRH-analogue เพื่อยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนทางเพศของเด็กที่มีปัญหา Gender Dysphoria เพื่อชะลอการพัฒนาร่างกายที่ไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศ
แต่เดิมยา GnRH-analogue ถูกใช้เพื่อรักษาเด็กที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก่อนเวลาอันควร โดยเฉลี่ยเด็กผู้หญิงจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์อายุระหว่าง 8 -13 ปี เด็กผู้ชายจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์อายุระหว่าง 9-14 ปี หรือในช่วงระยะที่ 2 ของ Tanner Stage
แม้ยา GnRH-analogue จะไม่ได้ผลิตสำหรับการบำบัดเพื่อการข้ามเพศตั้งแต่ต้น แต่การใช้ยา GnRH-analogue สำหรับเด็กที่มีปัญหา Gender Dysphoria ก็มีการศึกษาประสิทธิผลของการใช้ยามาอย่างยาวนาน โดยสหรัฐอเมริกาเริ่มใช้ยา GnRH-analogue สำหรับการบำบัดเพื่อการข้ามเพศครั้งแรกเมื่อปี 2007 และในทวีปยุโรปก็เริ่มใช้รักษาเด็กที่มีปัญหา Gender Dysphoria มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990’s แล้ว
ประโยชน์จากการใช้ยาเพื่อยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนทางเพศของเด็ก คือการเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้เวลาเรียนรู้อัตลักษณ์ทางเพศของตนเองในช่วงดังกล่าวอย่างเต็มที่ ก่อนเข้าสู่กระบวนการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทนของเพศตรงข้าม
- Hormone Therapy
เป็นขั้นตอนการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทนเพื่อช่วยให้ร่างกายของเด็กที่มีปัญหา Gender Dysphoria เปลี่ยนแปลงให้ตรงตามอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ได้แก่ การใช้ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนสำหรับผู้มีอัตลักษณ์เป็นบุรุษข้ามเพศ และใช้ฮอร์โมนเอสโทรเจนสำหรับผู้มีอัตลักษณ์เป็นสตรีข้ามเพศ โดยจะเริ่มใช้เมื่อเยาวชนมีอายุประมาณ 16 ปี
โดยปกติแล้วการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน ถูกใช้ในการรักษาหลากหลายรูปแบบ ทั้งการคุมกำเนิดและรักษาอาการจากภาวะประจำเดือนหมดในผู้หญิง หรือการรักษาอาการผมร่วงในผู้ชาย
- Gender-Affirming Surgery
ปกติการผ่าตัดแปลงเพศจะใช้กับคนไข้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีไม่กี่เคสที่ใช้วิธีการดังกล่าวกับวัยรุ่นที่มีปัญหา Gender Dysphoria
ส่วนผลกระทบระยะยาวจากการบำบัดเพื่อการข้ามเพศให้กับเด็กและเยาวชน เช่น ผลกระทบต่อการสืบพันธุ์ในอนาคต ยังมีงานวิจัยอยู่น้อย และในปัจจุบันวงการแพทย์กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบระะยาว
แต่กระนั้น การบำบัดเพื่อการข้ามเพศช่วยให้เด็กที่มีปัญหา Gender Dysphoria ลดความเครียด ความกังวล และความคิดฆ่าตัวตายได้อย่างมาก
งานวิจัยปี 2022 ที่เผยแพร่ผ่านทางวารสารการแพทย์ JAMA Network ยืนยันว่า เด็กที่มีปัญหา Gender Dysphoria มีความเครียดและมีความคิดอยากฆ่าตัวตายลดลง หลังเข้ารับการบำบัดเพื่อการข้ามเพศ
การวิจัยแบบติดตามผล (Follow-Up Study) เป็นระยะเวลา 22 ปี ที่เผยแพร่ทางวารสารวิทยาศาสตร์ SpringerLink เมื่อปี 2021 เป็นการติดตามสุขภาวะทางกายและใจของบุรุษข้ามเพศในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เริ่มเข้ารับการบำบัดด้วยวิธี Puberty Blockers เมื่ออายุ 13 ปี เริ่มบำบัดด้วยวิธี Hormone Therapy ตอนอายุ 17 ปี และเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศตอนอายุ 20 และ 22 ปี โดยเมื่อถึงวัย 34 ปี เขามีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์ และมีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.politifact.com/factchecks/2023/jan/17/instagram-posts/is-all-gender-affirming-care-for-children-experime/
https://ns.mahidol.ac.th/english/journal_NS/pdf/vol36/issue1/priyoth.pdf
https://opa.hhs.gov/sites/default/files/2022-03/gender-affirming-care-young-people-march-2022.pdf
https://jamanetwork.com/journals/jamanetworkopen/fullarticle/2789423
https://link.springer.com/article/10.1007/s10508-011-9758-9#Sec2
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter