27 มิถุนายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทาง Facebook ในสหราชอาณาจักร โดยอ้างว่า โจชัว ซัทคลิฟฟ์ ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ถูกคณะกรรมการสอบสวนของกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษ (Department for Education) สั่งให้ยุติอาชีพครู จากความผิดเพียงเพราะเรียกนักเรียนที่เป็นเด็กชายข้ามเพศ ด้วยคำสรรพนามที่ใช้สำหรับเด็กหญิง
บทสรุป :
- โจชัว ซัทคลิฟฟ์ ถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะพฤติกรรม Misgendering นักเรียนบ่อยครั้ง
- โจชัว ซัทคลิฟฟ์ ถูกห้ามสอนในอังกฤษเพราะพฤติกรรมยัดเยียดแนวคิดเหยียดเพศแก่นักเรียนอย่างไม่เหมาะสม
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
จากการตรวจสอบโดย Reuters Fact Check พบว่า บทลงโทษดังกล่าว เป็นเพราะ โจชัว ซัทคลิฟฟ์ ฝ่าฝืนกฎระเบียบด้านการสอนของกระทรวงศึกษาธิการหลาย ๆ ข้อ ไม่ใช่การถูกตัดสินเพราะการใช้คำสรรพนามเรียกเด็กชายข้ามเพศอย่างไม่เหมาะสมเท่านั้น
ถูกไล่ออกครั้งแรก
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2017 ขณะนั้น โจชัว ซัทคลิฟฟ์ เป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ให้กับเด็กอายุระหว่าง 11-18 ปีในโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองออกซ์ฟอร์ด ได้เอ่ยชมนักเรียนที่ระบุตัวตนว่าเป็นเด็กชายข้ามเพศ ด้วยคำสรรพนามที่ใช้สำหรับเด็กหญิงว่า “เก่งมากสาวน้อย” (Well done girls)
โจชัว ซัทคลิฟฟ์ ซึ่งเป็นทั้งครูคณิตศาสตร์และเป็นนักสอนศาสนา ยอมรับเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเพียงการพลั้งปากพูดโดยไม่ยั้งคิด เพราะเขายึดหลักการสร้างความสมดุลระหว่างความเชื่อส่วนตัวและความรู้สึกของนักเรียน โดยเลี่ยงที่จะใช้คำสรรพนามเวลาเรียกนักเรียน ด้วยการเรียกชื่อจริงของนักเรียนโดยตรง แต่เขาก็ยอมรับว่า ความคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่ขัดต่อความเชื่อทางศาสนาของเขาอย่างมาก แม้จะรู้สึกเสียใจต่อนักเรียนคนดังกล่าว แต่เขาก็เชื่อว่าไม่ผิดอะไรที่จะเรียกเด็กที่เกิดมาเป็นผู้หญิง ด้วยคำที่ใช้สำหรับเด็กผู้หญิง
การสอบสวนเมื่อปี 2017 ระบุว่าพฤติกรรมของ โจชัว ซัทคลิฟฟ์ เข้าข่ายการ Misgendering หรือการใช้คำสรรพนามหรือคำบ่งชี้เพศไม่ตรงกับเพศสภาพ ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนนโยบายด้านความเท่าเทียม
ถูกไล่ออกครั้งที่สอง
หลังถูกให้ออกจากโรงเรียนในเมืองออกซ์ฟอร์ดในปี 2017 โจชัว ซัทคลิฟฟ์ ก็ได้เข้ามาสอนในโรงเรียนเมืองอิสลิงตันของกรุงลอนดอนตั้งแต่ปี 2018 ก่อนจะต้องถูกให้ออกจากโรงเรียนอีกครั้งในปี 2020 จากข้อหาเผยแพร่ความเชื่อทางศาสนาอย่างไม่เหมาะสมในชั้นเรียน
เหตุการณ์ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี 2019 เมื่อ โจชัว ซัทคลิฟฟ์ ถูกกล่าวหาว่า ให้นักเรียนในชั้นดูวิดีโอที่มีเนื้อหาโจมตีการรักเพศเดียวกันและคนต่างศาสนา
การพิจารณาโทษ
ผลการสอบสวนโดยสำนักงานกำกับดูแลการเรียนการสอน Teaching Regulation Agency (TRA) ของกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษ พบว่า โจชัว ซัทคลิฟฟ์ ใช้คำสรรพนามต่อนักเรียนที่เป็นเด็กชายข้ามเพศอย่างไม่เหมาะสมหลายครั้ง ทั้งต่อหน้า ตอนออกรายการโทรทัศน์ และการระบุในอีเมลที่ส่งไปให้โรงเรียน
รวมถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายกรณี ทั้งการแสดงความเห็นต่อต้านการสมรสของคนเพศเดียวในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ เอ่ยถึงบุคคลที่ตัดสินใจเลิกเป็นคนรักเพศเดียวกันเพราะคิดว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา และเปิดคลิปวิดีโอตั้งคำถามถึงความเป็นชายที่ลดลงในสังคมปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ถือเป็นการชี้นำที่ไม่นำเสนอมุมมองอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลทางความคิด หรือเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีโอกาสแสดงความเห็นที่แตกต่าง
คณะกรรมการจึงลงความเห็นว่า โจชัว ซัทคลิฟฟ์ ล้มเหลวในการปฏิบัติต่อนักเรียนอย่างมีเกียรติ และล้มเหลวในการปกป้องสวัสดิภาพของนักเรียน และมีความผิดจากพฤติกรรมไม่เหมาะสมทางวิชาชีพที่ไม่อาจยอมรับได้ และพฤติกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อวิชาชีพ ส่งผลให้ โจชัว ซัทคลิฟฟ์ ถูกห้ามสอนในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นมา
ปัญหา Gender Dysphoria ในอังกฤษ
Gender Dysphoria คือการทุกข์ทรมานใจที่เกิดจากความไม่สอดคล้องระหว่างอัตลักษณ์ทางเพศและเพศกำเนิด
ประเทศอังกฤษมีศูนย์การแพทย์ Gender Identity Development Service (GIDS) เพื่อให้คำปรึกษาเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศหรือมีภาวะ Gender Dysphoria โดยเฉพาะ
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนเด็กและเยาวชนที่ใช้บริการ GIDS เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยช่วงปี 2016-2017 มีเยาวชนอังกฤษเข้ารับการปรึกษากว่า 2 พันราย โดยกว่า 1,400 คนที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิง ส่วนเด็กที่อายุน้อยที่สุดที่เข้ารับการปรึกษามีอายุเพียง 3 ขวบเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า สาเหตุที่พบเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศเพิ่มขึ้น น่าจะมาจากการเปิดรับและยอมรับกลุ่มคนข้ามเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมมากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.reuters.com/article/factcheck-teacher-misgender/fact-check-uk-teacher-who-misgendered-pupil-banned-for-numerous-reasons-idUSL1N37S2GC
https://www.bbc.com/news/uk-england-oxfordshire-41966554
https://www.bbc.com/news/uk-england-oxfordshire-53650010
https://www.bbc.com/news/uk-england-oxfordshire-65688163
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter