28 มิถุนายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลสร้างความเข้าใจผิดเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของพรรคเดโมแครต กระทำการดูหมิ่นคริสต์ศาสนิกชน ด้วยการเลือกให้วันฉลองคนข้ามเพศตรงกับวันอีสเตอร์ วันสำคัญของศาสนาคริสต์ จนถูกนักการเมืองฝั่งรีพับลิกันนำไปเป็นประเด็นโจมตีอย่างแพร่หลาย
บทสรุป :
- วันการตระหนักถึงตัวตนของคนข้ามเพศสากลจะตรงกับวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี
- วันอีสเตอร์จะกำหนดตามปฏิทินสุริยจันทรคติ ทำให้แต่ละปีมีวันอิสเตอร์ไม่ตรงกัน
- ในช่วงปี 2015-2030 วันอีสเตอร์จะวนมาตรงกับวันที่ 31 มีนาคมเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
- กระแสต่อต้านส่วนใหญ่มาจากนักการเมืองฝั่งรีพับลิกันที่นำมาเป็นประเด็นโจมตีทางการเมือง
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
จากการตรวจสอบพบว่า แม้ในปี 2024 วันการตระหนักถึงตัวตนของคนข้ามเพศสากล (Transgender Day of Visibility) และวันอีสเตอร์ (Easter) จะตรงกับวันที่ 31 มีนาคม เช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า วันทั้งสองจะตรงกันทุกปี เนื่องจากวันการตระหนักถึงตัวตนของคนข้ามเพศสากลจะตรงกับวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี แต่วันฉลองเทศกาลอีสเตอร์ในแต่ละปีจะไม่ตรงกัน เนื่องจากมีการคำนวณวันตามปฏิทินสุริยจันทรคติ (Lunisolar Calendar) และไม่ได้กำหนดวันตามปฏิทินกริกอเรียนหรือระบบปฏิทินสากลในปัจจุบัน
Transgender Day of Visibility
วันการตระหนักถึงตัวตนของคนข้ามเพศสากล กำหนดให้ตรงกับวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี โดยจัดเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา
จุดประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองให้กับกลุ่มคนข้ามเพศ รวมถึงการให้สังคมตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำจากการเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศ และเชิดชูบทบาทของคนข้ามเพศที่มีต่อสังคม
Easter
อีสเตอร์ เป็นวันสำคัญของศาสนาคริสต์ เพื่อเฉลิมฉลองการคืนพระชนม์ชีพของพระเยซู หลังถูกตรึงกางเขนและสิ้นพระชนม์ไปแล้วเป็นเวลา 3 วัน
วันอีสเตอร์ถูกกำหนดให้ตรงกับวันอาทิตย์แรก หลังวันพระจันทร์เต็มดวง หลังวันวสันตวิษุวัต ซึ่งเป็นวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรโลก ทำให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับช่วงกลางคืน ถือเป็นจุดเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิในภูมิภาคซีกโลกเหนือ
เงื่อนไขของการกำหนดวันอีสเตอร์ ส่งผลให้วันอีสเตอร์เปลี่ยนไปทุกปี โดยมักจะตรงกับช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงช่วงเดือนเมษายนของทุกปี
โดยพบว่าตั้งแต่ปี 2015 ถึง 2030 มีวันอีสเตอร์ตรงกับวันที่ 31 มีนาคมเพียงแค่ครั้งเดียว
ความขัดแย้งต่อวันคนข้ามเพศระหว่างพรรคการเมือง
นับตั้งแต่ โจ ไบเดน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2021 เป็นต้นมา ผู้นำพรรคเดโมแครตซึ่งเป็นพรรคมีแนวคิดเสรีนิยม ต่างให้ความสำคัญต่อวันการตระหนักถึงตัวตนของคนข้ามเพศสากลอย่างต่อเนื่องทุกปี
ต่างจากนักการเมืองพรรครีพับลิกันซึ่งเชิดชูแนวคิดอนุรักษ์นิยม รวมถึงทีมงานหาเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ออกมาประณาม โจ ไบเดน อย่างผิด ๆ ว่าจงใจเลือกฉลองวันคนข้ามเพศตรงกับวันสำคัญทางศาสนา
คารีน ฌอง ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาว ยืนยันว่า ข่าวลือที่อ้างว่า โจ ไบเดน จงใจฉลองวันคนข้ามเพศตรงกับวันอีสเตอร์ไม่เป็นความจริง และแปลกใจที่ความเข้าใจผิดถูกขยายไปในวงกว้าง เพราะคนที่เข้าใจการทำงานของปฏิทิน จะรู้ดีว่าวันอีสเตอร์เปลี่ยนไปทุกปี แต่วันการตระหนักถึงตัวตนของคนข้ามเพศสากลจัดขึ้นทุกวันที่ 31 มีนาคมมาหลายปีแล้ว การตรงกันของวันทั้ง 2 ในปีนี้เป็นแค่เรื่องบังเอิญ
แต่เธอไม่ประหลาดใจที่จะมีกลุ่มนักการเมืองบางราย หาโอกาสสร้างการแตกแยกในสังคมและทำให้ประเทศชาติอ่อนแอลง ด้วยวาทกรรมที่เลวร้าย เต็มไปด้วยความเกลียดชัง และไร้ซึ่งความซื่อสัตย์เช่นนี้ พร้อมย้ำว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะไม่นำความเชื่อทางศาสนาส่วนตัวมาหาประโยชน์ทางการเมืองเช่นนี้
แอนดรูว์ เบตส์ รองโฆษกทำเนียบขาว ยืนยันผ่านทางอีเมลว่า แม้ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะเป็นคริสเตียนผู้เคร่งครัดและเฉลิมฉลองเทศกาลอีสเตอร์ร่วมกับครอบครัว แต่เขาจะให้ความสำคัญต่อความสามัคคีของประชาชน ด้วยการเน้นถึงศักดิ์ศรีและเสรีภาพของชาวอเมริกันทุกคนเป็นที่ตั้ง
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.factcheck.org/2024/04/partisan-controversy-over-easter-and-transgender-day-of-visibility/
https://www.reuters.com/fact-check/biden-did-not-set-transgender-day-visibility-annually-coincide-with-easter-2024-04-05/
https://apnews.com/article/fact-check-biden-easter-egg-transgender-proclamation-667689922248
https://www.politifact.com/factchecks/2024/mar/14/tweets/hopping-to-conclusions-no-easter-has-not-been-repl/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter