ตำรวจไซเบอร์เผยกลอุบายล่าสุด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เปิดวิดีโอคอล แอบอ้างเป็นอดีตรอง ผบ.ตร. หลอกเหยื่อโอนเงินแลกพ้นคดีฟอกเงิน ข่มขู่ดำเนินคดีฝากขัง 90 วัน ชี้มีผู้เสียหายหลายรายร้องทุกข์ ย้ำเร่งปราบพร้อมเตือนประชาชนรู้เท่าทัน
กรุงเทพฯ 11 มี.ค. 66 – พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ เปิดเผยว่า บช.สอท.ได้รับการแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหายหลายราย ว่าถูกมิจฉาชีพแอบอ้างสวมรอยเป็นอดีตรอง ผบ.ตร.โทรศัพท์มาหาพร้อมเปิดกล้องวิดีโอ (วิดีโอคอล) ให้เห็นภาพจากฝั่งมิจฉาชีพ และมีการออกอุบายต่าง ๆ ข่มขู่ให้โอนเงินหลายครั้ง
เปิดอุบายมิจฉาชีพสวมรอยหลอกซ้อนหลอก : เริ่มจากอ้างเป็นพนักงานธนาคาร
สำหรับอุบายของมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว พบว่ามีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่าง ๆ หลายแห่ง หลอกลวงอย่างแนบเนียนและทำเป็นขบวนการ โดยเริ่มจากการพูดคุยผ่านโทรศัพท์แอบอ้างเป็นพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง สร้างความน่าเชื่อถือโดยแจ้งชื่อนามสกุลและหมายเลขพนักงาน จากนั้นแจ้งว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน โดยอ้างว่าผู้เสียหายได้ใช้บัตรเครดิตที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท
ให้แอดไลน์ตำรวจปลอม อ้างตรวจเส้นทางการเงิน
“จากนั้นได้โอนสายต่อไปยังมิจฉาชีพอีกรายซึ่งอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สังกัด สภ.เมืองพิษณุโลก ให้ผู้เสียหายแอดไลน์บัญชีไลน์ตำรวจปลอม ข่มขู่ผู้เสียหายว่าจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ให้โอนเงินที่มีอยู่ในบัญชีมาให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน รวมถึงมีการส่งเอกสารราชการปลอมให้ผู้เสียหายตรวจสอบ มีการสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้เสียหายได้ยินเสียงว่ามิจฉาชีพอยู่ที่สถานีตำรวจจริง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่มิจฉาชีพเตรียมไว้” โฆษก บช.สอท. ระบุ
สวมรอยเป็นตำรวจใหญ่ เนียนวิดีโอคอล
หลังจากผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว แก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังข่มขู่ผู้เสียหายอีกว่าจะต้องถูกดำเนินดดีและถูกฝากขัง 90 วัน หรือไม่เช่นนั้นให้แอดไลน์ไปพูดคุยขอความช่วยเหลือกับผู้กำกับการ สภ.เมืองพิษณุโลก ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อแอดไลน์และพบว่ารูปภาพโปรไฟล์และชื่อบัญชีไลน์ดังกล่าวเป็นรูปและชื่อของอดีตข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ระดับรอง ผบ.ตร. จริง “มิจฉาชีพเพิ่มความน่าเชื่อถือโดยการไลน์วิดีโอคอลมายังผู้เสียหาย และทำการส่งภาพว่ากำลังตรวจสอบเงินที่ผู้เสียหายโอนมา อีกทั้งยังข่มขู่อีกว่าต้องโอนเงินมาเพื่อประกันตัว และให้รายงานตัวทุก 2 ชั่วโมงด้วย อ้างว่ามีระบบติดตามตัว ห้ามหลบหนี ผู้เสียหายเกิดความกลัวจึงโอนเงินไปให้มิจฉาชีพอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสร้างความเสียหายอีกเป็นจำนวนมาก” โฆษก บช.สอท. ระบุ
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงประชาชนได้หลากหลายช่องทาง เช่น สื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ข้อความสั้น (SMS) และเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ เพิ่มความน่าเชื่อถือและพูดคุยหว่านล้อมให้เหยื่อหลงกลจนเกิดความเสียหายในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ซึ่งมีรูปแบบการทำงานเป็นขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน หลอกลวงเหยื่อโดยการใช้ความกลัว ความโลภ และความไม่รู้ของประชาชนเป็นเครื่องมือ ที่ผ่านมาพบว่ามีหลากหลายรูปแบบ เช่น การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่บริษัทขนส่งสินค้า แจ้งไปยังผู้เสียหายว่าบัญชีธนาคาร หรือพัสดุที่ส่งไปต่างประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด หรือบัญชีธนาคารของผู้เสียหายถูกอายัด เป็นหนี้บัตรเครดิต เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด การฟอกเงิน มีหมายจับ หรือหลอกลวงว่าได้เช็คเงินคืนภาษี หรือหลอกถามข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปปลอมแปลงในการทำธุรกรรมต่าง ๆ รวมถึงการหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมเพื่อฝังมัลแวร์ควบคุมโทรศัพท์มือถือให้โอนเงินออกจากบัญชี เป็นต้น
ทีมข่าวไซเบอร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ผู้สื่อข่าว : แอนนา รักรอด
พิสูจน์อักษร : เบญจมา ส้มเช้า
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter