8 เม.ย. – เจ้าหน้าที่กู้ภัยพยายามปั๊มหัวใจเด็กชายวัย 5 ขวบ น้ำหนัก 50 กิโลกรัม อาหารติดคอ แต่สุดยื้อ เสียชีวิต ท่ามกลางความโศกเศร้าของครอบครัว
ครอบครัวโศกเศร้าทันทีที่รู้ว่ากู้ภัยไม่สามารถยื้อชีวิตของ “น้องใหม่” เด็กชายวัย 5 ขวบ ภายหลังน้องใหม่กินอาหารติดคอ พ่อพยายามขี่รถจักรยานยนต์ไปเรียกแท็กซี่เพื่อพาน้องใหม่ไปหาหมอ แต่เพื่อนบ้านเห็นแล้วว่าท่าทางอาการไม่ดี จึงบอกว่าให้เรียกรถพยาบาลน่าจะมีอุปกรณ์ในการช่วยชีวิต พร้อมกับช่วยโทรแจ้งกู้ชีพกู้ภัย ตอนนั้นน้องใหม่ยังพอมีสติ แต่เพื่อนบ้านไม่รู้สาเหตุว่าน้องกินอะไรเข้าไป หรือมีอาการป่วยกำเริบ เพราะก่อนหน้านี้ทราบว่าน้องใหม่เป็นหอบ เพิ่งไปรักษาและออกจากโรงพยาบาลมาได้ไม่กี่วัน แต่หลังออกจากโรงพยาบาล น้องก็ดูปกติ แข็งแรง ไม่คิดว่าจะมาเกิดเหตุสลดแบบนี้
ด้านนายซอมิลาย พ่อของเด็ก ซึ่งเป็นชาวเมียนมา บอกผ่านล่ามว่า ตอนแรกลูกนั่งเล่นอยู่ปกติ สักพักลูกบอกว่าหายใจไม่ออก ให้พ่อช่วยหน่อย พ่อก็ตกใจ แต่ไม่รู้ว่าลูกอาหารติดคอ ส่วนอาหารที่ให้ลูกกินคือกุนเชียง นม ไข่ต้ม และแก้วมังกร ยอมรับปกติลูกเป็นคนกินเก่ง แต่แข็งแรงดี แม้น้ำหนักจะมากถึง 50 กิโลกรัม
ขณะที่กู้ภัยให้ข้อมูลว่า ตอนเข้ามาในบ้านเห็นว่าจุดที่วางตู้เย็นด้านบนมีจานวางอยู่ 1 ใบ และบนจานมีแก้วมังกร นม 1 กล่อง น้ำเปล่า 1 ขวด วางรวมกันอยู่ ส่วนน้องใหม่นอนหงายอยู่หน้าประตูทางเข้า ใบหน้าเขียวคล้ำ ปากซีด หมดสติไปแล้ว และสัญญาณชีพอ่อน ทั้งกู้ภัยและเจ้าหน้าที่จากศูนย์เอราวัณพยายาม CPR ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ตอนแรกน้องอ้วกเอานมออกมา พร้อมกับแก้วมังกรชิ้นใหญ่ ทำให้คาดว่าแก้วมังกรที่กินเข้าไปอาจติดคอ หลังจากนั้นช่วย CPR ต่อเนื่องอย่างสุดกำลัง แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตน้องได้ น้องเสียชีวิต พ่อแม่ขถึงกับร้องไห้ระงม ญาติๆ ที่มายืนลุ้นต่างร้องไห้ ส่วนอาสามัครถึงกับยืนซึมกับภาพสุดสะเทือนใจ
กรณีนี้นับเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจผู้ปกครองให้คอยดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เล่นหรือกินอาหารคนเดียว รวมถึงอาจต้องศึกษาวิธีช่วยเหลือหากเกิดเหตุเฉพาะหน้า อาหารติดคอลูก เพื่อดูแลในเบื้องต้น
ข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณย์ และคลิปของมหิดลชาแนล แนะนำวิธีสังเกตผู้มีอาการ “อาหารติดคอ” แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.อาหารติดคอ ชนิดไม่รุนแรง คือ หายใจได้อยู่ ไอเป็นพักๆ พูดหรือออกเสียงได้ วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้พยายามไอออกด้วยตัวเอง และเฝ้าสังเกตอาการ หรือโทรสายด่วน 1669 หรือนำตัวผู้ประสบเหตุส่งโรงพยาบาล
2.อาหารติดคอ ชนิดรุนแรง 8nv สำลัก ไออย่างรุนแรง หรือไอไม่ได้ หายใจไม่ได้ หายใจลำบาก พูดลำบาก หรือพูดไม่ได้ หน้าเริ่มซีด เขียว เริ่มใช้มือกุมที่คอตัวเอง ให้ถามผู้ประสบเหตุว่าของติดคอใช่หรือไม่ หากพยักหน้าเพราะพูดไม่ได้ พูดไม่ออก วิธีปฐมพยาบาลคือยืนซ้อนหลังผู้ประสบเหตุ กรณีที่เป็นเด็กให้คุกเข่า แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ทำเป็นท่ายืนตามปกติ โอบรอบใต้รักแร้ผู้ประสบเหตุ โดยกำมือข้างหนึ่งเป็นกำปั้นเหนือสะดือใต้ลิ้นปี่ ใช้มืออีกข้างโอบกำปั้นไว้ รัดกระตุกหน้าท้องขึ้นและเข้าพร้อมกันแรงๆ บริเวณใต้ลิ้นปี่ รอบละ 5 ครั้ง จนกว่าสิ่งแปลกปลอมออกมา ถ้าสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาแล้ว หรือผู้ประสบเหตุสามารถออกเสียงได้ แสดงว่าช่วยเหลือสำเร็จ
ถ้ายังมองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอมออกมา ห้ามใช้มือล้วงในปากเด็ดขาด และหากเห็นว่าเริ่มหมดสติ อาการไม่ดีขึ้น ต้องรีบโทรเรียกรถพยาบาล หรือโทรสายด่วน 1669 ก่อนเริ่มทำ CPR .-สำนักข่าวไทย