กรุงเทพฯ 9 เม.ย.- SET Index เดือน มี.ค. ปิดที่ 1,158.09 จุด ปรับลดลง 3.8% เหตุมาตรการภาษีทรัมป์-แผ่นดินไหว ส่วน เม.ย. ตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นภาษีไทย 36% ทำSET Index ลดลง 8.4% แนะรัฐเร่งเจรจา ยิ่งชัดเจนเร็ว ยิ่งสร้างความมั่นใจการนักลงทุน
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงต่อเนื่อง และปริมาณการซื้อขายในช่วงปลายเดือนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐประกาศมาตรการเก็บภาษีอย่างต่อเนื่อง และยังคงมีการปรับเปลี่ยนนโยบายไปมาหลายครั้ง ทำให้ผู้ลงทุนกังวลเกี่ยวกับการส่งออกของไทย และนับตั้งแต่ทรัมป์ ประกาศนโยบาย “ Liberation Day” เมื่อ 2 เม.ย. จนถึงเมื่อวานนี้ ( 8 เม.ย.) หุ้นไทยหล่นลงไปประมาณ 8.4%
สิ่งสำคัญกว่านั้นคือการเข้าไปเจรจาต่อรองของแต่ละประเทศ ก็ยังไม่ทราบโมเดลที่ชัดเจน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนจนทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดความตื่นตระหนก
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรง ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอแจ้งปิดการซื้อขายทุกตลาด ทั้ง SET mai TFEX ในภาคบ่ายของวันที่ 28 มีนาคม 2568 แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับภัยธรรมชาติในอดีตทั้งสึนามิ ปี 2547 และน้ำท่วม ปี 2554 แม้ว่ามีผลกระทบต่อจิตวิทยาผู้ลงทุนและเศรษฐกิจโดยรวม แต่ผลกระทบเหล่านี้มักเป็นระยะสั้นและมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งคณะกรรมการ ตลท. ก็มีมาตรการออกมาทั้งเรื่อง celling & floor และ การปรับ Dynamic Price Band ให้แคบลง รวมถึงการห้าม short sell ชั่วคราว จนถึง 11 เม.ย. 68 ซึ่งมาตรการเหล่านี้ทำให้ตลาดหุ้นไทย ไม่ Overreact และปรับน้อยลงใกล้เคียงเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ
ส่วนที่สำคัญอยากให้นักลงทุนจับตาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพารายได้ด้านการส่งออกเป็นสัดส่วนสูง จึงต้องเร่งเจรจาให้เร็ว ซึ่งประเทศไทยเริ่มมีท่าทีการเข้าไปเจรจา ซึ่งมีทั้งจุดร่วมที่เป็นวิน-วิน โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้น ทั้ง ข้าวโพด พลังงาน ซึ่งจะช่วยส่งผลต่อต้นทุนการผลิตได้มากขึ้น และส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานร่วมกัน หากเกิดความชัดเจนเร็วขึ้นเท่าไรก็จะทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคยลดลงต่ำกว่ามากกว่านี้ในช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมาตรการที่ออกมา เพื่อดูแลความผันผวนของตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ เป็นมาตรการเดียวกับที่ใช้ในช่วงโควิด-19 ซึ่งมีผลที่ดี ยังทำให้ตลาดดำเนินต่อโดยไม่ผันผวนเกินไปนัก แต่ยังคงต้องติดตามต่อไป
สำหรับสิ้นเดือนมีนาคม 2568 ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งกระทบกับกลุ่มขนส่ง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มประกันภัย และกลุ่มรับเหมา ทำให้ผู้ลงทุนมีความกังวลว่าอาจมี บจ. ในกลุ่มดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ แต่หากพิจารณาจากอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ พบว่า บจ. ยังมีความเข้มแข็งและน่าจะสามารถผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ไปได้ อีกทั้ง SET Index ช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก ทำให้ Valuation ของหลักทรัพย์อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ดังนั้น เริ่มเห็นสัญญาณ บจ. ไทยเข้ามาช่วยหนุนมูลค่าบริษัทของตัวเองโดยการเข้ามาซื้อหุ้นคืน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน ขณะที่ Value Stock เริ่มมี downside ที่จำกัด
ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยเดือนมีนาคม 2568
•เดือนมีนาคม 2568 SET Index ปิดที่ 1,158.09 จุด ปรับลดลง 3.8% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568SET Index ปรับลดลง 17.3%
•กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2567 ได้แก่ กลุ่มการเงิน กลุ่มทรัพยากร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอาหาร และ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์
•มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ maiอยู่ที่ 38,491 ล้านบาท หรือลดลง 10.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วงไตรมาส 1/2568มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมฯ อยู่ที่ 42,826ล้านบาท ลดลง 6.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 21,852 ล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาส 1/2568 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 39,978 ล้านบาท
•วันที่ 8 เมษายน 2568 SET Index ปิดที่ 1,074.59 จุด ลดลง 4.50% มูลค่าการซื้อขายรวม 66,714 ล้านบาท สะท้อนแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากความวิตกต่อมาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ 9 เมษายน2568 โดยนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศนโยบาย “Liberation Day” SET Index ปรับลดลง 8.4% สอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค
•Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 12.2 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 11.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 15.2 เท่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.9 เท่า
•อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568อยู่ที่ระดับ 4.24% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.34%
ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เดือนมีนาคม 2568
•มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 519,619 สัญญา เพิ่มขึ้น 7.1% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures ทำให้ในปี 2568 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 463,656 สัญญา ลดลง 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ Gold Online Futures.-สำนักข่าวไทย