ตามที่มีการแชร์ รูป SMS สนง. สถิติ ชวนตอบแบบสอบถาม ลุ้นรับรางวัลรวม 6 ล้านบาท นั้น
📌 บทสรุป : เป็นข้อความ SMS จริง ที่ส่งโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบพบว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สนง.สถิติฯ) ยืนยันผ่านเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ทางการ ว่า ข้อความ SMS ดังกล่าว เป็นข้อความจริงที่ส่งโดย สนง.สถิติฯ เพื่อเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมตอบแบบสอบถามสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลที่อยู่อาศัยที่แท้จริงของประชาชน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ
ทั้งนี้ สนง.สถิติฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าการส่ง SMS ดังกล่าวเป็นการประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมตอบแบบสอบถามผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เว็บไซต์ “ทางรัฐ” หรือเว็บไซต์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติเท่านั้น โดยมีรางวัลรวมมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท
ทั้ง 3 ช่องทาง เมื่ออยู่ที่หน้าแบบสอบถามฯ แล้ว สามารถเริ่มตอบแบบสอบถามตามขั้นตอน ดังนี้
1. อ่านคำชี้แจงให้ละเอียด แล้วเริ่มทำแบบสอบถาม “เลือกที่ตั้งของที่อยู่อาศัย” แล้วกด “ยืนยัน”
2. เลือกจำนวนสมาชิกในครัวเรือน แล้วกรอกข้อมูลทีละคน (คำนำหน้า ชื่อ นามสกุล เพศ ความสัมพันธ์กับหัวหน้าครัวเรือน การศึกษาสูงสุด สถานภาพการทำงาน การย้ายถิ่น และเพศสภาพ) แล้วกด “บันทึก”
3. เมื่ออยู่หน้าสรุปข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้อง แล้วกด “ยืนยัน” เป็นอันเสร็จสิ้น
โดย สนง.สถิติฯ จะมีการจัดเก็บข้อมูลอย่างปลอดภัย ไม่มีการถามเลขบัตรประชาชน บัญชีธนาคาร เงินเดือน/รายได้ ไม่มีการส่งลิงก์ใน SMS และไม่มีการโทรศัพท์หาประชาชน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบันมีมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นหน่วยงานต่าง ๆ หลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก สนง.สถิติฯ จึงได้แนะนำให้ประชาชนสังเกตและตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ โดยข้อสังเกตที่สำคัญ ได้แก่
- ตรวจสอบแหล่งที่มา: ตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อความ SMS มาจาก “MadeeNSO” ซึ่งเป็นชื่อที่ สนง.สถิติฯ ใช้ในการส่งข้อความ
- ระมัดระวังการให้ข้อมูลส่วนตัว: อย่าให้ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน หรือข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ผ่านลิงก์ที่ไม่น่าเชื่อถือ
- ตรวจสอบเว็บไซต์: หากมีการให้เข้าเว็บไซต์ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นเว็บไซต์ทางการของ สนง.สถิติฯ (www.nso.go.th) หรือเว็บไซต์ “ทางรัฐ” จริง
หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจ สามารถติดต่อสอบถามไปยัง สนง.สถิติฯ ได้โดยตรง เพื่อตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัด
4 เมษายน 2568
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter