ศาลรัฐธรรมนูญ 9 เม.ย.-ศาลรัฐธรรมนูญเอกฉันท์ ไม่รับคำร้อง “ณฐพร” ขอสั่งฟัน กกต. ปล่อยฮั้วเลือก สว. เหตุไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ กกต.ทำตามกฎหมาย หากเสียหายใช้สิทธิทางศาลอื่นได้
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่นายณฐพร โตประยูร และคณะรวม 10 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 จากกรณีอ้างว่าถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ผู้ถูกร้อง ที่จัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนถึงการประกาศรับรองผลไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หลักนิติธรรม และกระทำการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 5 มาตรา 107 และมาตรา 108
โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบคำร้อง ปรากฏว่าคำร้องเรียนที่นายณฐพรและคณะยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น เป็นคำร้องเรียน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231๒๓๑ (1) มิใช่การยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 อีกทั้งที่อ้างว่าตนและคณะถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่านายณฐพรและคณะไม่ใช่บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรงอันเกิดจากการกระทำ ของกกต. กรณีไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ประกอบกับการกระทำของกกต.เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย หากนายณฐพรและคณะเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอาจใช้สิทธิทางศาลได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม
ส่วนกรณีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตั้งแต่เริ่มกระบวนการ จนถึงการประกาศรับรองผลใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 นั้น รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้วตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้นนายณฐพรและคณะไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213.-314.-สำนักข่าวไทย