ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์
ตามที่มีการแชร์ “ประกาศด่วน” เตือนห้ามเปิดดูคลิปแผ่นดินไหว 8.5 ริกเตอร์ เพราะมันคือไวรัสเรียกค่าไถ่
บทสรุป : ❌ มั่วและเก่า ไม่ควรแชร์ต่อ ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีการป้องกันภัยไซเบอร์
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบพบว่า คำเตือนดังกล่าว ไม่มีเหตุผลที่จะเป็นไปได้จริง เนื่องจากตามหลักการทางคอมพิวเตอร์แล้ว ภาพและคลิปวิดีโอดิจิทัล ที่เผยแพร่หรือส่งต่อบนโซเชียล หรือ LINE และสามารถดูได้ด้วยตาทันที โดยไม่ต้องกดคลิกลิงก์ใด ๆ หรือต้องกดติดตั้งก่อนนั้น จะไม่สามารถกลายเป็นไวรัสเรียกค่าไถ่ได้แต่อย่างใด ที่สำคัญ ยังไม่เคยมีการบันทึกว่ามีการเกิดเหตุแผ่นดินไหวระดับ 8.5 ที่กรุงเทพฯ ด้วย
สำหรับสิ่งที่ส่งต่อทางออนไลน์แล้วอาจมีอันตราย มักจะส่งต่อมาในรูปแบบของ ลิงก์ หรือ ไฟล์ หรือ แอปพลิเคชัน .apk ที่คนร้ายมักจะใช้เป็นเครื่องมือล่อลวงให้ประชาชนหลงเชื่อ กดคลิก กรอกข้อมูล ตกลง ยอมรับ อนุญาต หรือ ติดตั้ง ในโทรศัพท์มือถือ
ทั้งนี้ ข้อความเตือนเรื่องแผ่นดินไหวดังกล่าว ไม่ใช่ข้อความใหม่ แต่ตรวจสอบพบว่า เคยมีการส่งต่อกันในอดีต เป็นข้อความภาษาจีน ซึ่งพบว่ามีการแชร์กันที่ไต้หวัน จนมีเว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเว็บทางการไต้หวัน ออกมาชี้แจงหักล้างข่าวลือนี้
นอกจากนั้น ยังมีการแชร์ด้วยข้อความลักษณะเดียวกัน แต่อ้างถึงเหตุการณ์ “แผ่นดินไหวระดับ 10 ในญี่ปุ่น” หรืออ้างถึงคลิปการเสียชีวิตของคนดัง อีกด้วย
ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าว ถูกแปลเป็นภาษาไทยมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยพบการเผยแพร่ส่งต่อเมื่อปี 2564 โดยมีข้อความเริ่มต้นว่า “การแจ้งเตือนฉุกเฉิน : เพิ่งทราบข่าว! ห้ามเปิดคลิปเกี่ยวกับแผ่นดินไหวขนาด 8.5 ริกเตอร์ที่กรุงเทพฯ…”
ต่อมาในปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่เพิ่งเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่ประเทศตุรกีและซีเรีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ก็ได้มีการแปลเป็นภาษาไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยมีข้อความเริ่มต้นว่า “ประกาศด่วน:โปรดให้ความสนใจกับข่าวที่เพิ่งได้รับ! วิดีโอแผ่นดินไหว 8.5 ริกเตอร์ในกรุงเทพฯ…”
ดังนั้น ข้อความ “เตือนห้ามเปิดคลิปแผ่นดินไหว 8.5 ริกเตอร์ที่กรุงเทพ” ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องเท็จที่เก่าแล้ว แม้ผู้ส่งต่อจะมีความหวังดี แต่ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะส่งต่อ เพราะเป็นการทำให้เกิดความเข้าใจผิดในวิธีการป้องกันและระวังภัยไซเบอร์ ขณะที่ยังให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับกรุงเทพฯ อีกด้วย
16 กุมภาพันธ์ 2566
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท
ดูเพิ่มเติม:
https://cofacts.tw/article/AV_elrK6yCdS-nWhujk1
http://www.mygopen.com/2017/05/line_10.html
https://rumtoast.com/2825
https://alian.kcg.gov.tw/News_Content.aspx?n=0938BB6F96F83896&sms=C8D5EE24D2FBA2D9&s=37D0A110C5DB5367#:~:text=%E7%9C%9F%E7%9A%84%E7%B4%94%E5%B1%AC%E8%AC%A0%E8%A8%80,%E9%A1%9E%E4%BC%BC%E7%9A%84%E5%81%87%E6%B6%88%E6%81%AF%E5%9B%89%EF%BC%81
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter