เมื่อคลิกเบตกลายเป็นเครื่องมือฟิชชิ่ง ภัยเงียบที่บ่อนทำลายเสรีภาพสื่อในยุคดิจิทัล ?
วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศให้เป็น “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” เพื่อส่งเสริมบทบาทของสื่อที่เสรี มีจริยธรรม และรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมย้ำเตือนรัฐบาลให้เคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ในยุคที่ข้อมูลหลั่งไหลผ่านหน้าจอเพียงปลายนิ้ว การคงไว้ซึ่ง “เสรีภาพของสื่อ” ต้องเดินคู่กับ “ความตระหนักรู้ของผู้รับสาร” เพราะภัยอย่างฟิชชิงอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบสื่อโดยรวมได้
ฟิชชิง (Phishing) คืออะไร ?
ฟิชชิง (Phishing) คือรูปแบบหนึ่งของการหลอกลวงทางออนไลน์ โดยมักใช้อีเมล ข้อความ หรือหน้าเว็บไซต์ปลอม เพื่อให้ผู้ใช้หลงเชื่อและเปิดเผยข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน หรือข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ โดยไม่รู้ตัว
คำว่า “Phishing” มีที่มาจากคำว่า “Fishing” ซึ่งหมายถึงการตกปลา เปรียบได้กับการที่อาชญากรไซเบอร์โยนเหยื่อล่อ เช่น ลิงก์ปลอมหรือข้อความเร่งด่วน เพื่อให้เหยื่อหลงคลิกและตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี
ข้อมูลจาก พันตำรวจเอก มรกต แสงสระคู ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พบว่า มีความพยายามโจมตีแบบฟิชชิงมากถึง 11 ล้านรายการต่อปี และฟิชชิงยังถูกจัดอยู่ใน 6 อันดับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่พบบ่อยที่สุดอีกด้วย
รูปแบบของฟิชชิงมีหลากหลาย โดยแรกเริ่มจะเป็นรูปแบบ Email Phishing ซึ่งเป็นการส่งอีเมลปลอมพร้อมลิงก์หลอกให้คลิก แต่ในปัจจุบัน เมื่อสื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทมากขึ้นและผู้คนหันมาเสพข่าวผ่านอินเทอร์เน็ตมากกว่าเดิม จึงเปิดช่องให้เกิดฟิชชิงในรูปแบบใหม่ตามมา นั่นคือ Clickbait Phishing การใช้พาดหัวล่อใจหรือข้อความชวนสงสัย เช่น “คุณถูกรางวัล” หรือ “คลิกดูด่วน” เพื่อให้ผู้ใช้เผลอคลิกลิงก์อันตราย
Clickbait คืออะไร ?
คลิกเบต (Clickbait) หมายถึง เนื้อหาในรูปแบบข้อความ ภาพขนาดย่อ (thumbnail) หรือลิงก์ ที่ออกแบบมาเพื่อดึงดูดความสนใจและชักจูงให้ผู้ใช้งานคลิกตามลิงก์นั้นเข้าไปดู อ่าน หรือฟังเนื้อหาออนไลน์ โดยมักใช้วิธีการที่หลอกลวง สร้างความตื่นเต้นเกินจริง หรือทำให้เข้าใจผิด
ในบริบทภาษาไทย สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้บัญญัติศัพท์คำว่าคลิกเบตเอาไว้ว่า “พาดหัวยั่วให้คลิก” ขึ้นเพื่อใช้แทนคำว่า Clickbait หรือ คลิกเบต โดยเน้นย้ำถึงลักษณะการพาดหัวข้อที่จูงใจให้กดเข้าไปดู
เมื่อคลิกเบตกลายเป็นเครื่องมือฟิชชิ่ง
ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของคลิกเบตคือ มักเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่มีคุณค่าหรือความน่าสนใจที่น่าสงสัยหรือเนื้อหาที่ให้ได้ไม่เท่ากับที่พาดหัวสัญญาไว้ ซึ่งคลิกเบตทำหน้าที่เหมือนเป็น “เหยื่อล่อ” ให้เกิดการคลิก จนส่งผลไปสู่ผู้ใช้หลงเชื่อและเปิดเผยข้อมูลสำคัญ โดยใช้กลไกทางจิตวิทยาและกลวิธีทางภาษาและภาพ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจมากขึ้น
แม้คลิกเบตจะดูเหมือนแค่พาดหัวลวงที่กวนใจ แต่ในความเป็นจริง มันอาจก่อให้เกิดผลกระทบที่คาดไม่ถึง ทั้งต่อผู้อ่าน ผู้เขียน และวงการสื่อโดยรวม เนื่องจากพฤติกรรมการเสพข่าวที่เน้น “คลิกก่อนคิด” กำลังสร้างวงจรที่ทำลายคุณภาพของเนื้อหา และความน่าเชื่อถือของสื่อ จนอาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์โดยไม่รู้ตัว เช่น
1. เสียเวลาและความสนใจของผู้อ่าน โดยผู้อ่านต้องเสียเวลากับเนื้อหาที่ไม่มีคุณภาพ หรือไม่ได้ตรงกับสิ่งที่พาดหัวสื่อไว้
2. บ่มเพาะนิสัยการเขียนที่มุ่งหวังแค่ยอดคลิก ซึ่งเป็นวิธีการหลอกล่อ แทนที่จะยึดถือความจริงและคุณภาพของเนื้อหา
3. บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อสื่อโดยรวม เพราะหากผู้อ่านรู้สึกถูกหลอกซ้ำ ๆ ความไว้ใจที่มีต่อสื่อทั้งหมดก็อาจถูกสั่นคลอน
4. เสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์โดยไม่รู้ตัว จากพฤติกรรมการชินกับการคลิกลิงก์โดยไม่ตรวจสอบ อาจกลายเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่เปิดทางให้ฟิชชิงและมัลแวร์
10 วิธีสังเกตสัญญาณคลิกเบต
1. ใช้ภาษาที่เร้าอารมณ์หรือเกินจริง
เช่น สุดยอด, ช็อก, ไม่น่าเชื่อ, ตะลึง, หายนะ, เปลี่ยนแปลงชีวิต
2. สร้าง “ช่องว่างความอยากรู้” (Curiosity Gap)
พาดหัวที่จงใจปกปิดข้อมูลสำคัญเพื่อกระตุ้นให้คลิก เช่น คุณจะไม่เชื่อว่าเกิดอะไรขึ้น
3. ใช้ตัวเลขหรือทำเป็นรายการ
พาดหัวในรูปแบบโดยเฉพาะการใช้ตัวเลข (บางครั้งเป็นเลขคี่) เช่น “X สิ่งที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ…”
4. ตั้งคำถามที่คลุมเครือหรือยั่วให้สงสัย
คำถามที่ทำให้รู้สึกค้างคาใจและอยากหาคำตอบ จนต้องกดเข้าไปอ่าน
5. สร้างความรู้สึกเร่งด่วนหรือกลัวตกข่าว
ใช้วลีที่กดดันให้ต้องรีบคลิก เช่น ห้ามพลาด!, มีเวลาจำกัด!
6. ใช้ภาพขนาดย่อ (Thumbnail) ที่ดูสะดุดตาเกินจริงหรือไม่เกี่ยวข้อง
รูปภาพที่ดูน่าตกใจ เร้าอารมณ์อย่างรุนแรง หรือดูไม่สอดคล้องกับข้อความในพาดหัว
7. มีการใช้อักษรตัวพิมพ์ใหญ่ (ALL CAPS) หรือเครื่องหมายวรรคตอนมากผิดปกติ
อาจมีเครื่องหมายตกใจ (!!!) หรือคำถาม (???) ซ้ำๆ เพื่อดึงดูดความสนใจ
8. สัญญาผลลัพธ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้หรือเกินจริง
พาดหัวที่ให้คำมั่นสัญญาถึงผลลัพธ์ที่ดูดีเกินจริง หรือแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนด้วยวิธีง่ายๆ
9. อ้างอิงถึงบุคคลมีชื่อเสียงในบริบทที่น่าสงสัย
เช่น การใช้ชื่อดารา ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีอำนาจในหัวข้อข่าวซุบซิบ
10. เน้นการกระตุ้นอารมณ์อย่างรุนแรง
เช่น ความโกรธ, ความกลัว, ความประหลาดใจอย่างสุดขีด หรือเรื่องราวที่น่ารัก/น่าสงสารจนเกินจริง
สื่อเสรีในยุคดิจิทัลเผชิญความท้าทายรูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้มาในรูปของการปิดกั้นโดยตรง หากแต่อยู่ในรูปของการบิดเบือนข้อมูล คลิกเบต และฟิชชิงข่าว ซึ่งแฝงตัวมากับช่องทางสื่อออนไลน์ที่ดูน่าเชื่อถือ
ดังนั้น การรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลข่าวสารจึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการปกป้องเสรีภาพสื่อได้
เพราะหากผู้อ่านยังปล่อยให้คลิกเบตหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า และหากสื่อยังหลงใหลในพาดหัวที่ยั่วยวนให้คลิกโดยไร้ความจริง สุดท้ายแล้ว เราอาจต้องร่วมกันออกตามหาแหล่งข่าวใหม่แห่งเสรีภาพที่ไว้วางใจได้จริง ๆ
3 พฤษภาคม 2568
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท
เขียนและรวบรวม โดย นัฐภรณ์ ผลพฤกษา
ดูคลิป ชัวร์ก่อนแชร์ เพิ่มเติม
ชัวร์ก่อนแชร์ Keyword : PHISHING ? — การหลอกลวงบนโลกออนไลน์ ผ่านการแอบอ้าง
อ้างอิง
clickbait พาดหัวยั่วให้คลิก, คลิกเบต
https://www.facebook.com/RatchabanditThai/posts/719203190232701/
วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81
คลิกเบต คืออะไร ?
https://www.digitalfactory.co.th/th/what-is-clickbait-S0227
https://anga.co.th/marketing/what-is-clickbait
ทำความรู้จัก Phishing (ฟิชชิง) และการป้องกัน
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter