เลย 6 พ.ค. – โครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ทำชาวบ้านเสียแตก มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ขณะที่อธิบดีกรมอุทยานฯ ยืนยันอยู่ในขั้นตอนศึกษา ยังไม่อนุมัติการก่อสร้าง
ภายหลังสำนักงบประมาณ อนุมัติงบประมาณ 25.7 ล้านบาท ให้คณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ดำเนินการโครงการออกแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติชื่อดังของ อ.ภูกระดึง จ.เลย
วันนี้ที่บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ต.ภูกระดึง อ.ภูกระดึง จ.เลย มีการขึ้นป้ายขนาดใหญ่ ระบุข้อความ “ประชาชนชาวภูกระดึง ขอกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เพื่ออนุรักษ์ที่ยั้งยืน ฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย” นางสาวไพจิตร เกตเวียง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวบ้านเสียงแตกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายไม่เห็นด้วย ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างมีเหตุผล โดยฝ่ายที่เห็นด้วย มองว่าการมีกระเช้า จะช่วยย่นระยะเวลาการขึ้นภูกระดึง และเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งหากมีกระเช้า จะทำให้การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจดีขึ้น
ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย คือ เรื่องของกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่ไม่อยากให้มีกระเช้าเพราะมองว่าเป็นการทำลายธรรมชาติ ส่วนชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย คือ กลุ่มที่ประกอบอาชีพ พ่อค้าแม่ค้า ลูกหาบ หากมีกระเช้าเกิดขึ้นจริง คนกลุ่มนี้จะประกอบอาชีพต่อไปอย่างไร เพราะเป็นอาชีพหลักที่ทำสืบทอดมาจากปู่ย่าตาย
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านฝ่ายที่เห็นด้วยมีมากกว่าไม่เห็นด้วย แม้จะมีความขัดแย้งบ้าง แต่โดยรวมคุยกันได้ ถ้าการศึกษาสร้างกระเช้าไฟฟ้า แต่ไม่สามารถในพื้นที่อำเภอภูกระดึงได้ ต้องไปสร้างที่อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ก็ต้องให้คำตอบและคำอธิบายและเหตุผลว่าทำไม ไม่สามารถสร้างที่อำภูกระดึง
ขณะที่นักท่องเที่ยวหลายคนยังห่วง หากมีการสร้างกระเช้าไฟฟ้า หวั่นจะส่งผลเสียต่อธรรมชาติ และสัตว์ป่า ที่จะถูกบุกรุกพื้นที่ รวมถึงปัญหาขยะ อยากให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นชมธรรมชาติมากกว่า อย่างไรก็ตาม หากจะมีการสร้างกระเช้าจริงๆ ต้องมีมาตรการควบคุม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และต้องควบคุมประชากรนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นภูกระดึง

ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า อพท.ได้ประชุมหารือถึงโรดแมปการสร้างกระเช้าภูกระดึง จ.เลย ในเรื่องขั้นตอนการขออนุญาตและบริหารจัดการ รวมทั้งตั้งคณะทำงานร่วมกัน เนื่องจากรายละเอียดในการออกแบบต้องกระทบพื้นที่น้อยที่สุด ซึ่งยังเป็นเพียงขั้นตอนการศึกษา และยังไม่ได้มีการอนุมัติการก่อสร้าง
ทั้งนี้ จากการหารือ มีการนำเสนอเทคโนโลยีหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่มาจากยุโรป ทั้งสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ เยอรมนี ซึ่งมีลักษณะเสาเดียว กระทบธรรมชาติไม่มาก รวมทั้งทางเลือกจุดสร้างกระเช้าด้านผาหมากดูก ไม่ใช่จุดทางขึ้นในปัจจุบัน คาดว่าระยะทางไม่เกิน 3 กม. เบื้องต้น คาดว่าในเฟสแรกการก่อสร้างกระเช้าใช้งบประมาณไม่เกิน 1,000 ล้านบาท และเฟสที่ 2 เป็นเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่ด้านบนภูกระดึง และด้านล่างที่ต้องมีจุดบริการนักท่องเที่ยวเพิ่มเติม.-สำนักข่าวไทย