กรุงเทพฯ 7 มิ.ย. – “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” จับมือเครือข่ายคนพิการ ผลักดันกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน
(7 มิ.ย.65) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการของกรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์กรคนพิการ 7 ประเภท สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย สมาคมเพื่อผู้ปกครองทางจิตแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมีนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ
ในการประชุมหารือวันนี้ กรุงเทพมหานครได้รับฟังข้อเสนอจากเครือข่ายคนพิการเพื่อนำแนวทางในการผลักดันการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองสำหรับทุกคน แบ่งออกเป็นด้านต่างๆ ประกอบด้วย
ด้านอาชีพคนพิการ เสนอให้มีการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเพิ่ม 800 อัตรา ใน กทม. ภายใน 2 ปี การส่งเสริมแสดงความสามารถคนพิการ ดนตรีในสวน ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ การจัดอบรมฝึกอาชีพ เพิ่มหลักสูตรทักษะเทคโนโลยีดิจิทัล การจัดหาตลาดส่งเสริมอาชีพและผลิตภัณฑ์คนพิการ การอบรมอาชีพคนพิการแนวใหม่ นำไอทีมาช่วยส่งเสริมให้สามารถทำงานที่บ้านได้ โดย AI เข้ามามีบทบาทการทำงานมากขึ้นให้เหมาะกับแต่ละความพิการ
ด้านสิ่งอำนวยสะดวก อาคาร สถานที่ในกรุงเทพฯ เสนอให้มีการพัฒนาเป็นเมืองการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าถึงเท่าเทียม การตั้งคณะทำงานสิ่งอำนวยความสะดวก เร่งปรับปรุงแบบมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นแบบเดียวกัน และออกประกาศข้อบังคับนำไปใช้เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเสนอให้ กทม. ทำ inclusion analysis เพื่อวิเคราะห์โครงการถึงผลกระทบต่างๆ การเปิดเวทีให้ทุกคนมีส่วนร่วมนโยบายทิศทางของกรุงเทพฯ มีระบบรับเรื่องร้องเรียนเพื่อคนพิการ การปรับปรุงทางเท้า ท่าเรือ ซอยในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมประกาศให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งการท่องเที่ยว world inclusive destination เป้าหมายจำนวน 1,000 แห่ง
ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม เสนอให้สร้างแอปพลิเคชัน สื่อเสียง เพื่อคนตาบอด คนหูหนวก เช่น สัญญาณเสียง ภาพ ในการอำนวยความสะดวกการเดินทาง ทางข้าม พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด e-book พัฒนาเว็บไซต์ที่เข้าถึงได้ทุกประเภทความพิการ จัดงานแฮกกาธอน ออกแบบเครื่องแต่งกายให้คนพิการ เพื่ออำนวยความสะดวกการดำรงชีวิตคนพิการ
ด้านการสวัสดิการสังคม เสนอให้เตรียมการบริการออกบัตรคนพิการในศูนย์ฯ กทม. ทุกแห่ง การมีผู้ช่วยคนพิการในหน่วยงานของ กทม. ศูนย์บริการคนพิการในทุกเขต กทม. การให้บริการฟรีในสถานที่ สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ การติดตั้งกล้อง cctv เพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกในการใช้สุนัขนำทางเข้าไปในสถานที่ต่างๆ
ด้านการแพทย์ เตรียมขับเคลื่อนกองทุนสุขภาพคนพิการ การสร้างช่องทางพิเศษเข้าถึงบริการการแพทย์คนพิการ การผ่าตัดประสาทหูเทียม โดย รพ.กทม.
ด้านการศึกษา ส่งเสริมการเรียนร่วมกับคนพิการในโรงเรียนทั่วกรุงเทพฯ เพิ่มการจัดตั้งศูนย์บริการพัฒนาเด็กพิการ ส่งเสริมโรงเรียนเรียนรวมนักเรียนทั่วไปกับเด็กพิการ universal design for learning/inclusive school
นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงการส่งเสริมสิทธิสตรีพิการ การป้องกันภัยพิบัติคนพิการ จัดรถบริการรับ-ส่ง กทม. สำหรับคนพิการเป้าหมาย 200 คัน เพื่อบริการคนพิการ การเตรียมปรับข้อบัญญัติให้เอื้อคนพิการในทุกมิติ การมีคณะทำงานคนพิการใน 50 เขต การมีกลไกในการติดตามผ่านคณะอนุกรรมการคนพิการจังหวัด การเชื่อมโยงคนพิการผ่านสถานีโทรทัศน์หรือวิทยุชุมชน เพื่อให้คนพิการเข้าถึงได้ และจะผลักดันด้านกฎหมาย เพื่อปรับปรุงข้อบัญญัติ ระเบียบ ให้มีสภาพบังคับในการปฏิบัติให้เกิดแรงผลักดันที่ชัดเจน
“การสร้างมหานครสำหรับทุกคน ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะคนพิการเท่านั้น ผู้สูงอายุ เด็ก ก็จะได้รับประโยชน์ด้วย และยังเป็นการสื่อสารถึงความห่วงใยซึ่งกันและกัน ดูแลซึ่งกันและกัน ห่วงใยเพื่อนร่วมเมือง เป็นมิติที่เหนือกว่าแค่ด้านกายภาพ แต่ยังหมายถึงด้านจิตใจที่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การมีน้ำใจ เข้าใจจิตใจผู้อื่น ห่วงใยเพื่อนที่อยู่ร่วมเมืองเดียวกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่ง กทม. จะทำแต่เพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้น” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว .-สำนักข่าวไทย