สธ. 8 ก.ย.-ผอ.กองระบาดวิทยา เผยข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์และการเสียชีวิตจากวัคซีน มีแค่ 1 คน พบภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ หลังรับแอสตราฯ 6 วัน ซึ่งภาวะลิ่มเลือดสามารถแก้ไขได้ด้วยการรับยา IVIG แต่ต้องแจ้งแพทย์ และสังเกตตัวเองให้ชัดว่ามีอาการแน่นหน้าอก แขนขาอ่อนแรง หรือปากเบี้ยว ร่วมกับมีจุดเลือด แต่ไม่มีไข้
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 37,461,284 โดส เป็นวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 25,954,106 โดส และเข็ม 2 จำนวน 10,900,001 โดส แบ่งเป็น วัคซีนซิโนแวค 15 ล้านโดส, แอสตราเซเนกา 16 ล้านโดส, ซิโนฟาร์ม 4.6 ล้านโดส และไฟเซอร์ 9.17 แสนโดส โดยพบว่าอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นหลังจากการรับวัคซีนแต่ละชนิดแตกต่างกัน วัคซีนซิโนแวค เด่นเรื่องอาการคลื่นไส้อาเจียน, วัคซีนแอสตราฯ เด่นเรื่องอาการไข้, วัคซีนซิโนฟาร์ม มีอาการคล้ายคลึงกับซิโนแวค คลื่นไส้ อาเจียน และไฟเซอร์ มีอาการของไข้นำเช่นกัน โดยอาการแพ้วัคซีนมักจะเกิดขึ้นภายหลังรับวัคซีน 30 นาที
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า จากการติดตามผู้ที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ และต้องนำเข้าสู่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาในวัคซีน 4 ชนิด จากการเก็บรวบรวมข้อมูลนับตั้งแต่มีการรับวัคซีนเข็มแรก จนถึง 5 ก.ย.64 พบซิโนแวค 2,667 คน ในจำนวนนี้เกิดอาการแพ้รุนแรง 24 คน, แอสตราฯ 3,004 คน ในจำนวนนี้แพ้รุนแรง 6 คน และเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำ 5 คน, ซิโนฟาร์ม 193 คน และไฟเซอร์ 90 คน ในจำนวนนี้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 คน และพบว่าในผู้ที่รับวัคซีนมีผู้เสียชีวิต 628 คน จากการติดตามและนำข้อมูลการชันสูตรพลิกศพ หรือข้อมูลทางคลินิกมาประกอบการพิจารณา พบว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน 249 คน ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากวัคซีน 32 คน รอการสรุปผล 122 คน และสรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน 1 คน เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ
นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ 5 คน พบว่าในจำนวนนี้เสียชีวิต 2 คน และอีก 3 คน สามารถรักษาหายได้เป็นปกติ อยู่ในพื้นที่ กทม. 3 คน, นนทบุรี และนราธิวาส จังหวัดละ 1 คน ทั้งนี้ ในจำนวนผู้เสียชีวิต พบว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนเพียง 1 คนเท่านั้น เป็นหญิง อายุ 28 ปี จ.นนทบุรี การจะสรุปว่าเป็นภาวะลิ่มเลือดและเกล็ดเลือดต่ำ จากวัคซีน ต้องเข้าเกณฑ์ 5 ข้อ แต่ชัดเจนที่สุด คือ ต้องมีภาวะทั้งลิ่มเลือดและเกล็ดเลือดต่ำร่วมกัน จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ อาการจะไม่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลันทันทีหลังรับวัคซีน แต่จะเกิดภายหลัง ดังนั้นต้องมีการติดตามอาการ 4-30 วัน และร่วมกับมีจุดเลือดออก คล้ายไข้เลือดออก แต่ไม่มีไข้ แขนขาอ่อนแรง ปากหรือหน้าเบี้ยว ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ขาปวดเจ็บ ปวดท้องรุนแรง เพราะลิ่มเลือดเข้าไปอุดตันในจุดใดจุดหนึ่ง
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ สามารถรักษาหายได้ด้วยการให้ยา IVIG ทันที แต่ทั้งคนไข้และหมอต้องมีความเข้าใจที่ตรงกัน โดยต้องฉุกคิดเรื่องของการรับวัคซีนมา แต่ทั้งนี้อาการจะไม่เกิดขึ้นทันที อาจเกิดขึ้นห่างจากการรับวัคซีนไป 6 วันก็ได้ เหมือนกับผู้หญิงอายุ 28 ปี ที่เสียชีวิตรายนี้ ดังนั้นต้องแจ้งหมอด้วยว่าเพิ่งไปรับวัคซีนมา พร้อมย้ำว่า อุบัติการณ์การเกิดภาวะลิ่มเลือดของคนไทย เกิดขึ้นน้อยกว่าอังกฤษถึง 30 เท่า
ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มักพบเกิดในเด็กผู้ชายอายุน้อยมากกว่าผู้หญิง โดยเคสผู้ป่วยในไทย พบในเด็กชายอายุ 13 ปี มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง แต่รักษาหายแล้ว โดยเด็กชายคนดังกล่าวมีภาวะดัชนีมวลกาย หรือ BMI สูง (อ้วน)
ทั้งนี้ การสังเกตอาการหลังรับวัคซีนยังใช้เกณฑ์ภายใน 30 วัน โดยอาการที่บ่งชี้ คือ เจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ใจสั่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การรับวัคซีนยังคงมีประโยชน์มากกว่าโทษ และวัคซีนที่อยู่ในร่างกายมักมีประโยชน์มากกว่าอยู่ในขวด.-สำนักข่าวไทย