สำนักข่าวไทย 11 ก.ค.-ผอ.กองระบาดวิทยา ย้ำทั่วโลกแนวโน้มติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น แต่เสียชีวิตทรงตัว ส่วนไทยผู้ป่วยเพิ่มขึ้นใน กทม.และปริมณฑล ห่วงหยุดยาวเชื้อแพร่เร็วจาก กทม. สู่ชนบท จับตาตัวเลขผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต หากเกินเกณฑ์ที่กำหนดต้องปรับมาตรการ
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก พบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และเมื่อ 3-4 สัปดาห์เกิดการติดเชื้อ แบบสมอลเวฟ ส่วนในเอเชียเกิดสมอลเวฟเช่นกัน คาดพบการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า ซึ่งยังต้องติดตาม ส่วนสถานการณ์การเสียชีวิตพบเหมือนกันทั่วโลก คือไม่ได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่า มาจากการรับวัคซีนจำนวนมาก ส่วนประเทศไทย เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ใช้ชีวิตตามปกติ ก็มีแนวโน้มผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น แต่ขอให้ติดตามตัวเลขผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ โดยพบว่าผู้ป่วยปอดอักเสบ 786 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 349 คน ซึ่งพบว่า เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจาก ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา เดิมปอดอักเสบอยู่ที่ 638 คน และใส่ท่อช่วยหายใจ 290 คน แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รองรับได้อยู่ ส่วนเกณฑ์การเสียชีวิต พบว่าไม่แตกต่าง เพียงแต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อและการแพร่ พบใน กทม.และปริมณฑล และคาดว่าจะมีการแพร่กระจายไปในต่างจังหวัด การมีวันหยุดยาวก็อาจเป็นปัจจัยทำให้มีการแพร่เชื้อในต่างจังหวัดเร็วมากขึ้น แต่ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะยังคงระดับเตือนภัยไว้ที่ 2 เพื่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ดังนั้นในช่วงวันหยุดยาวนี้ อยากให้ประชาชน ระมัดระวังตนเองให้ดีเคร่งครัดเรื่องมาตรการ 2U ได้แก่ มาตรการส่วนบุคคล และมาตราการวัคซีน ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าคนที่เคยติดเชื้อ BA.1 และ BA.2 มีการติดเชื้อซ้ำด้วย BA.4, BA.5 ได้ และจากการติดตามข้อมูลผู้เสียชีวิตพบว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา 3-9 ก.ค. เป็นกลุ่มคน 608 ถึง 128 จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด 132 คน โดยพบว่า โรคที่ทำให้อาการรุนแรงและแนวโน้มเสียชีวิต ได้แก่ กลุ่มไตวายเรื้อรัง ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากสุดได้แก่ กทม.และปริมณฑล
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สถานการณ์การครองเตียงในผู้ป่วยปอดอักเสบใน รพ. พบว่า มีสัดส่วนเกิน 25% ไป 7-8 จังหวัด สูงสุดได้แก่ จ.นนทบุรี 42.60% รองลงมา กทม. 38.20% และ จ.สมุทรปราการ 29.80% อย่างไรก็ตาม หากการติดเชื้อโควิด-19 ในผู้ป่วยรายใหม่ใน รพ.มากกว่า 4,000 คนต่อวัน ก็ต้องมีการพิจารณาปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค ต้องมีการสวมหน้ากากอนามัย 100% และเพิ่มระยะห่างมากขึ้น ส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ หากมากกว่า 400 คนต่อวัน ก็ต้องปรับมาตรการเช่นกัน ซึ่งกราฟผู้ป่วยในส่วนนี้ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อาจต้องมีการปรับยาให้เร็วขึ้น และการป้องกันโรคอื่น ๆ ส่วนในผู้เสียชีวิต หากเกิน 40 คนต่อวัน ก็ต้องมีการปรับมาตรการเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทุกสถานการณ์จะลดลงได้ ด้วยมาตรการส่วนบุคคล หากมีการเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และระยะห่างก็จะทำให้สถานการณ์การติดเชื้อ ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตลดลง
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์การรับวัคซีน ขณะนี้ยอดการรับวัคซีนต่อวันลดลง เหลือ 40,000 คนต่อวัน จากเดิมสูงสุง 1 ล้านโดส ตอนนี้สถานการณ์การติดเชื้อมากขึ้น อยากให้คน 608 มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยวัคซีนเข็มกระตุ้นอยู่ที่ 43.3% เท่านั้น.-สำนักข่าวไทย