27 ม.ค. – เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2568 เวลา 17.14 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินถึงท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ณ ที่นั้น นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายต่างๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ทรงรับการถวายความเคารพจากกองทหารเกียรติยศ รวมทั้งมีประชาชนชาวเชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลืองมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ เพื่อชื่นชมพระบารมีด้วยความจงรักภักดี โดยระหว่างเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินผ่านมีสตรีชาวเหนือ 900 คน แต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง พร้อมใจฟ้อนเทียน และฟ้อนเล็บ ที่มีความอ่อนช้อยและงดงาม เป็นวัฒนธรรมและประเพณีโบราณของชาวล้านนา เพื่อถวายพระเกียรติ
เวลา 17.52 น. เสด็จพระราชดำเนินถึงลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในพิธีบายศรีทูลพระขวัญ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ เจ้านายฝ่ายเหนือ และพสกนิกรชาวจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันจัดขึ้นตามประเพณีวัฒนธรรมของชาวล้านนา ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความจงรักภักดี ในการนี้ ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์
จากนั้นเสด็จเข้าพลับพลาพิธี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลอากาศตรี เจ้าวัฒนัน ณ ลำพูน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเจ้าแสงตะวัน ณ เชียงใหม่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ตามคติของชาวล้านนาเชื่อว่า ในร่างกายของมนุษย์ประกอบขึ้นจากธาตุทั้ง 4 และมีขวัญ 32 ขวัญ ซึ่งขวัญเป็นเหมือนสิ่งที่คอยกำหนดชีวิต จิตใจ และความเป็นอยู่ หากขวัญอยู่ในร่างกายครบถ้วนก็จะมีสุขภาพแข็งแรง จิตใจแจ่มใส แต่ถ้าขวัญอ่อน หรือขวัญหายก็จะเจ็บป่วย “การสู่ขวัญ” จึงเป็นพิธีกรรมที่สำคัญของชาวล้านนา เพื่อเรียกขวัญให้กลับคืนสู่ร่างกาย หรือเสริมสร้างขวัญให้แข็งแรง และเป็นสิริมงคล ทั้งนี้จะทำเมื่อเจ็บป่วย เดินทางกลับจากแดนไกล หรือวาระอันเป็นมงคลต่าง ๆ เช่น วันเกิด และวันแต่งงาน
ในการนี้ ทอดพระเนตรริ้วขบวนฟ้อนเชิญบายศรีทูลพระขวัญ พร้อมเครื่องราชสักการะ และพุ่มดอกไม้ของเจ้านายฝ่ายเหนือ ประกอบด้วย กังสดาล วงกลองชุม ขบวนตุงช่อ 10 คู่ ฟ้อนเจ้านายฝ่ายเหนือฝ่ายชาย นำหน้าพานพระขวัญและบายศรีต้นแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฟ้อนเจ้านายฝ่ายเหนือฝ่ายหญิง นำหน้าพานพระขวัญ และบายศรีต้นแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ขบวนหัวหมู-เครื่องคาว-เครื่องหวาน ขบวนเครื่องสักการะล้านนา 5 คู่ ขบวนพานพุ่มดอกไม้ 5 สกุล ได้แก่ สกุล ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ ลำปาง ณ น่าน และ ณ เชียงตุง
จากคติความเชื่อเรื่อง “การสู่ขวัญ” พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จัดพิธีบายศรีทูลพระขวัญขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ครั้งเสด็จเลียบมณฑลพายัพ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2469 ณ พลับพลาหน้าศาลากลางมณฑลพายัพ หรือบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ในปัจจุบัน ต่อมาเจ้านายฝ่ายเหนือได้ร่วมกันจัดพิธีบายศรีทูลพระขวัญขึ้นตามแบบแผนที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กำหนดไว้ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2501 ณ พลับพลา โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายฝ่ายเหนือได้จัดพิธีบายศรีทูลพระขวัญถวายอีกหลายครั้ง นอกจากนี้ เจ้านายฝ่ายเหนือยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้จัดพิธีบายศรีทูลพระขวัญถวายสมเด็จพระศรี นครินทราบรมราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระบรมวงศ์ รวมทั้งพระราชอาคันตุกะอีกหลายวาระ
เมื่อผู้เชิญบายศรีทูลพระขวัญ พร้อมเครื่องราชสักการะและพุ่มดอกไม้ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวาย ณ โต๊ะบริเวณมุขพลับพลาพิธีแล้ว เจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง ร่ายนำคำทูลพระขวัญ เป็นทำนองของเจ้านายฝ่ายเหนือ ที่เคยปฏิบัติถวายมาแต่ในอดีต นายสนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขับลำนำ ทูลเชิญพระขวัญ เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ ประมุขสายสกุล ณ เชียงใหม่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ผูกข้อพระหัตถ์ขวาและซ้ายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย กับทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือ “เจ้าหลวงเชียงใหม่” เจ้าวรเทวี ณ ลำพูน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ผูกข้อพระหัตถ์ขวาและซ้ายแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือ “เจ้าหลวงลำพูน” เจ้าธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ และเจ้าประภารัตน์ ณ ลำพูน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
ในการนี้ ทอดพระเนตรการแสดงชุด “เฉลิมรัชทศมราชา บรมราชจักรีวงศ์” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงให้ความสำคัญ และทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีที่มีมาแต่โบราณ
โดยพิธีบายศรีทูลพระขวัญ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เป็นการจัดขึ้นครั้งแรกในรัชกาล เพื่อความเป็นสิริมงคล และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ ซึ่งที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยและเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ภาคเหนือมาโดยตลอด. -211 สำนักข่าวไทย