กรุงเทพฯ 9 ก.ค. – ผู้ตรวจการแผ่นดิน แนะรัฐจัดทำฐานข้อมูลออนไลน์ รับมือระงับเหตุฉุกเฉิน ย้ำเร่งถอดบทเรียนกรณีระเบิดและไฟไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟม จ.สมุทรปราการ ยกระดับมาตรการบริหารจัดการวัตถุอันตรายในโรงงาน ป้องกันเกิดเหตุซ้ำ
นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ ประชุมผ่านระบบ Zoom ร่วมกับนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยผู้แทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการและผังเมือง คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สภาวิศวกร ถึงเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก บริเวณซอยกิ่งแก้ว 21 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พบว่า หน่วยงานต่างๆ ได้บูรณาการความร่วมมือเพื่อให้ความช่วยเหลือดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเข้าควบคุมเพลิง ณ จุดเกิดเหตุ การจัดตั้งศูนย์รองรับผู้อพยพ การประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงบริเวณโรงงานในรัศมี 5 กิโลเมตร ออกจากพื้นที่ และแจ้งแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันมลพิษจากสารเคมี การสนับสนุนสรรพกำลังและอุปกรณ์ต่างๆ
สำหรับการควบคุมเพลิง การเฝ้าระวัง ณ จุดเกิดเหตุ และการควบคุมมลพิษ ตลอดจนการกำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในระยะเร่งด่วน จนกระทั่งสามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงไว้ได้ เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และความมั่นใจให้กับผู้ได้รับผลกระทบและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก
ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐ ในเรื่องมาตรการระยะเร่งด่วน จังหวัดสมุทรปราการ ควรจัดทำชุดข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการของภาครัฐในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในเรื่องเอกสารราชการ เช่น การรับแจ้งทรัพย์สินหรือเอกสารราชการสูญหาย บริการทำบัตรประจำตัวประชาชนเคลื่อนที่ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ถึงมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวด้วยความทั่วถึง ชัดเจน เป็นระบบ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ควรประสานความร่วมมือกับสมาคมและองค์กรวิชาชีพ เพื่อขอรับการสนับสนุนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในกระบวนการขนย้ายและกำจัดวัตถุอันตราย การกำหนดมาตรการควบคุมมลพิษที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งการสำรวจความเสียหายและตรวจสอบโครงสร้างของอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับผลกระทบจากแรงระเบิดและเพลิงไหม้
ส่วนมาตรการระยะยาว กรมโรงงานอุตสาหกรรม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเร่งดำเนินการสำรวจ ตรวจสอบ และประเมินความเสี่ยงโรงงานทั่วประเทศที่มีวัตถุอันตรายไว้ในครอบครอง รวมทั้งจำกัดปริมาณการครอบครองวัตถุอันตรายที่นำไปใช้ในทางอุตสาหกรรมไม่ให้อยู่ในระดับที่สูงเกินความจำเป็น หากพบโรงงานที่มีความเสี่ยง หรืออยู่ในสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชุมชนโดยรอบ ขอให้เร่งมีคำสั่งให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วนทันที รวมทั้งควรรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลกลางในระบบออนไลน์ ซึ่งแสดงข้อมูลของโรงงานที่มีการจัดเก็บวัตถุอันตราย แบ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานของโรงงานและวัตถุอันตรายที่ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน อันเป็นข้อมูลที่จะต้องเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้ และข้อมูลเชิงเทคนิคของโรงงาน เช่น พิมพ์เขียวหรือแบบแปลนของโรงงาน ชื่อวัตถุอันตราย สถานที่จัดเก็บและวิธีการป้องกันหรือกำจัด เพื่อให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือหน่วยงานที่เผชิญเหตุ สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการป้องกันและระงับเหตุฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที