รัฐสภา 28 พ.ค.- “พิชัย” ยังมั่นใจสามารถเก็บรายได้ตามเป้า ส่วนตัวยอมรับกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจ ยังต้องทำงบขาดดุล เพราะไทยเปรียบเหมือนเด็กที่ยังไม่โต ย้ำต้องแก้ปัญหาโครงสร้าง ดึงเอกชนมาลงทุนมากขึ้น
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ชี้แจงร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่งก็รู้สึกกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ แต่ก็เข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ ซึ่งทุกคนก็คาดหวังให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการใช้จ่ายที่มากขึ้น และมีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนแคบลง
ทั้งนี้ นายพิชัย กล่าวว่า ถึงแม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไป และเคยวางเป้าว่า จีดีพีที่เคยวางไว้ว่า จะผลักดันให้เกิน 3% ขึ้นไป แต่วันนี้่มีการปรับจีดีพีลงมา เหลือเพียง 1.8% แต่ยังมั่นใจว่า ยังสามารถเก็บรายได้ในปี 68 ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และเชื่อว่า เงินขาดดุลคงคลังคงไม่มากไปกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม นายพิชัย กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยหากย้อนหลังไปช่วงที่จีดีพีโตถึง 6-10% เมื่อ 30 ปีที่แล้ว จะพบว่า เงินลงทุนภาคเอกชนสูงถึงประมาณ 40% ของจีดีพี แต่ปัจจุบันการลงทุนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้วอยู่ประมาณ 20 % แสดงให้เห็นว่า การลงทุนในไทยหายไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งมาจากการลงทุนภาคเอกชนหายไป เอสเอ็มอีลดลง ซัพพลายเชนหายไป มองไม่เห็นโอกาสในการส่งออกจึงไม่เกิดการจ้างงาน อีกทั้งสินค้าที่ไทยส่งออกมีมูลค่าน้อย โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งหากต้องการผลักดันเศรษฐกิจต้องมีการสร้างความพร้อมและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำได้จากงบประมาณภาครัฐ และสนับสนุน การให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP มากขึ้น เพื่อให้เอกชนและผู้ลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้น
“งบประมาณที่จัดปีนี้ มั่นใจว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่เราเริ่มรู้แล้วว่า สถานการณ์โลกเปลี่ยนไป แต่ไม่ได้เปลี่ยนในระยะเวลาอันสั้น เราคงต้องปรับเปลี่ยนใหม่ ให้โครงสร้างเศรษฐกิจ พึ่งพาในประเทศมากขึ้น และ เราจะต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย ชี้แจงถึง การตั้งงบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งมีการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลมาแล้ว 8.5 แสนล้านบาท มา 2 ปีงบประมาณ หรือประมาณ 4% กว่า แต่มีการคืนเงินต้นอยู่ด้วยที่ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้จะขาดดุลที่ 7 แสนล้านบาท หรือ ประมาณ 3% กว่า
“ทำไมยังต้องทำงบขาดดุล ผมคิดว่า ไทยยังอยู่ในเขตเอเชีย ยังเป็นเด็กที่ยังไม่โต อยู่ใน growth country (ประเทศที่กำลังเติบโต) เพราะฉะนั้นต้องสร้างแบบขาดดุลสักพักหนึ่ง เพราะอีกปัญหาหนึ่งเราต้องเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของประเทศใหม่ การขาดดุลยังจำเป็นอยู่ แต่เมื่อขาดดุลเราคำนึงถึงหนี้ต่อจีดีพีอยู่ในระดับที่เรายอมรับได้” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย ยังชี้แจงเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ 1.57 แสนล้านบาท โดยมองว่า การส่งออกน่าจะได้รับผลกระทบ ซึ่งแทนที่รัฐบาลจะใส่เงินไปยังผู้บริโภค จึงนำเงินไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อผลักดันการผลิตในประเทศมากขึ้น และยอมรับว่า การเตรียมความพร้อมในการงบประมาณ 1.57 แสนล้านบาทมีข้อจำกัดในเรื่องเวลา แต่ยังจำเป็นต้องทำ พร้อมกับฝากให้สส.ช่วยพิจารณางบปี 69 อย่างละเอียด และสามารถแปรญัตติ เพื่อนำงบไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ส่วนเรื่องการท่องเที่ยว ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับนักท่องเที่ยว.-312 -สำนักข่าวไทย