รัฐสภา 20มี.ค.-สภาฯ เริ่มถกงบฯ 67 วาระ 2-3 “ภูมิธรรม” บอกงบฯ เสร็จเร็วกว่ากำหนด ชี้ปัญหาประชาชนรอไม่ได้ ขณะ “ศิริกัญญา” ขอตัดงบรวม 3 หมื่นล้าน โวยหน่วยงานเบิกจ่ายล่าช้า รัฐบาลขาดประสิทธิภาพ ผ่านไป 6 เดือน งบลงทุนเบิกแค่ 55% ประมาณการรายได้พลาด-ไม่เข้าเป้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (20มี.ค.) มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานการประชุมได้พิจารณางบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 วาระที่ 2 และ 3 ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 รายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ว่า คณะกรรมาธิการฯ เริ่มพิจารณาตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.แล้วเสร็จในวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่ารวดเร็วกว่าที่กำหนดไว้ 2 สัปดาห์ ด้วยคณะกรรมาธิการวิสามัญตระหนักดีว่า ปัญหาของประชาชนไม่อาจรอต่อไปได้ จำเป็นต้องได้รับงบประมาณในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนที่สุด
“คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยึดหลักในรูปขององค์คณะเป็นหนึ่งเดียว ทีมเดียวกัน ไม่แบ่งฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เพื่อแสวงหาความร่วมมือการพิจารณางบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ รอบคอบ ได้ยึดหลักการให้ความเคารพในการแสดงความเห็นที่แตกต่าง ใช้วิธีร่วมกันหารือเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมโดยยึดประโยชน์ของประชาชน และความถูกต้องของบทบัญญัติกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ ให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ที่ประชาชนจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้การดำเนินภารกิจขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความจำเป็น ความต้องการในพื้นที่ ให้ความสำคัญกับการตั้งงบประมาณให้ตรงกับความเป็นจริง เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งงบประมาณชดใช้เงินคงคลังในอนาคต และหาแนวทางจัดการภาระหนี้ที่สูงขึ้น” นายภูมิธรรม กล่าว
นายภูมิธรรม กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้ปรับลดงบประมาณลง 9,204,109,400 บาทถ้วน โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนเป้าหมายและผลการดำเนินงานจริง ความคุ้มค่า ความพร้อม และศักยภาพในการใช้จ่าย ขอขอบคุณกรรมาธิการวิสามัญฯ ทุกคนที่ให้ความสำคัญ เสียสละเวลา ร่วมมือพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ อย่างเต็มที่จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี พร้อมขอบคุณหัวหน้าหน่วยรับงบประมาณทุกท่านที่ให้การชี้แจงเป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน แล้วพร้อมตอบข้อซักถามของสมาชิกผู้ทรงเกียรติในแต่ละมาตราต่อไป
ขณะที่น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการที่สงวนความเห็น ในมาตรา 4 งบรวม ขออภิปรายปรับลดงบประมาณรวม 2567 จำนวน 3 หมืนล้านบาท ให้เหลือ 3.45 ล้านล้านบาท จาก 3.48 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ งบ 67 ได้รับการอนุมัติไปพลางก่อนแล้วจำนวน 1.8 ล้านล้านบาท โดยผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ส่วนที่เหลือที่สภาฯ พิจารณาจริงเพียง 1.68 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมด
“หากล่าช้าก็ไม่ใช่เป็นเพราะสภาฯ ซึ่งการเบิกจ่ายงบล่าช้า เป็นเพราะรัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบรายจ่ายลงทุนที่ผ่านไป 6 เดือนแล้ว แต่เบิกจ่ายเพียง 55% นอกจากนี้งบรายจ่ายประจำ ยังเบิกไปแค่ 79% ทั้งที่อยู่ในส่วนอนุมัติไปแล้ว ถ้ารัฐบาลจะขาดประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณขนาดนี้ เกือบ 6 เดือนเบิกรายจ่ายลงทุนไปได้แค่ 55% ก็ไม่สมควรที่จะนำงบไปใช้ทั้ง 3.48 ล้านล้านบาทค่ะ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า รัฐบาลประมาณการรายได้ผิดพลาด เนื่องจากหลังจากการประมาณการแล้ว รัฐบาลได้ออกนโยบายที่กระทบกับรายได้ของรัฐบาลหลายส่วน เช่น จะไม่มีการเก็บภาษีการขายหุ้น งดการนำส่งรายได้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) ลดภาษีสรรพสามิต จำนวน 6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการจัดเก็บรายได้ที่ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโตช้ากว่าตอนทำงบประมาณ
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตอนทำงบประมาณ ปี 67 คาดการณ์ว่าจะโต 5% ต่อปี แต่ล่าสุดของสภาพัฒน์ประมาณการ GDP ของปี 67 น่าจะตกแค่ 4% ไม่รวมเงินเฟ้อ เท่ากับหายไปแล้ว 1% ดิฉันไปคำนวณมาแล้วรายได้ที่หายไปประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ดังนั้น มันมีความเสี่ยงที่ประมาณการรายได้น่าจะสูงเกินความเป็นจริง เราสามารถกู้เต็มเพดานได้ 790,656 ล้านบาทเท่านั้น แต่ปัญหาในวันนี้ มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมาย เท่ากับเราสามารถกู้เพิ่มได้อีกแค่ 97,656 ล้านบาท ไม่ถึงแสนล้านบาท
“ใครของบก่อนได้ก่อน มันไม่ควรจะต้องเกิดเหตุการณ์ที่ให้หน่วยงานไหนที่ทำ โครงการก่อนได้งบประมาณก่อน หน่วยงานไหนทำงบประมาณทีหลัง ได้งบประมาณทีหลังแบบนี้เกิดขึ้น ดิฉันคิดว่าเราต้องมาจัดลำดับความสำคัญใหม่ ช่วยทำให้สถานะทางการคลังของประเทศไม่สะดุดลงและมีปัญหา” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในชั้นกรรมาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอตัดงบไม่จำเป็น เช่น งบประชาสัมพันธ์ ฝึกอบรมดูงาน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการเช่ายานพาหนะ และลดการบรรจุอัตรากำลังใหม่ แต่ตนงงอยู่ เนื่องจากหน่วยรับงบประมาณส่งคำขอเสร็จตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. 2567 แต่นายกรัฐมนตรีเพิ่งทราบว่าจะต้องตัดงบในส่วนนี้ แล้วมาสั่งการไว้วันที่ 3 มี.ค. 2567.-312.-สำนักข่าวไทย