กรุงเทพฯ 30 มิ.ย. – “ปริญญา” เชื่อเพื่อไทยไม่หักหลัง ปชช. 25 ล้านเสียง ไปร่วม พปชร. ตั้งรัฐบาล แลก “ทักษิณ” กลับบ้าน ชี้ทำได้ยาก มีผลกระทบหลายอย่าง แต่ถ้าจะทำต้องโหวตนายกฯ ฝั่งเพื่อไทยแล้วเสียงไม่พอ
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับ “สำนักข่าวไทย” เกี่ยวกับประเด็นตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ล่าสุดมีกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยยอมถอย แต่มีเงื่อนไขขอตั้งรัฐบาลหากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ว่าจากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา เสียงประชาชนจำนวน 25 ล้านเสียง ที่โหวตให้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล จึงเป็นความคาดหวังของประชาชนที่ให้เป็นรัฐบาลฝั่งประชาธิปไตยที่มาจากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล และเมื่อพรรคก้าวไกลเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้มาเป็นอันดับหนึ่งก็ต้องเป็นไปตามกติกาของระบบรัฐสภา
“แต่ขณะนี้ปัญหาอยู่ที่ระบบรัฐสภาของไทยที่ไม่ปกติ เพราะสภาฯ ทั่วโลกที่เขาใช้กันคือพรรคการเมืองที่รวมเสียงได้เกินครึ่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลมีเสียง 312 เสียง จาก 500 เสียง คือเกิน 60% สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเข้มแข็งแต่กลับตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะระบบรัฐสภาของไทยมีระบบสมาชิกวุฒิสภาร่วมโหวต หากสมาชิกวุฒิสภาตามปกติคือฟรีโหวต โดยที่ไม่มีใครชี้นำควบคุมก็มั่นใจว่าจำนวน 64 เสียงที่พรรคฝ่ายรัฐบาลต้องการไม่ใช่เรื่องที่ไกลกว่าความเป็นจริง แต่ขณะนี้ไม่ปกติ เพราะมีการสั่งการหรือไม่ว่าไม่ให้ ส.ว. ยกมือสนับสนุน เพราะมีหลายปัจจัยชวนให้คิดเช่นนั้น
“หากรอบแรกโหวตนายพิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะยังไม่ได้คะแนนเสียง 376 เสียง ย่อมเป็นสิทธิของพรรคอันดับสอง คือเพื่อไทย ที่จะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคต่อจากพรรคก้าวไกล แต่ไม่น่าจะเป็นการเริ่มต้นใหม่ถึงขั้นพรรคเพื่อไทยจะสลับข้างไปร่วมกับรัฐบาลเดิม หรือพลังประชารัฐ เชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ยากแม้จะมีกระแสข่าวดีลลับ เพราะพรรคเพื่อไทยได้บทเรียนจากประชาชนที่แพ้การเลือกตั้งเพราะความไม่ชัดเจนเรื่องการรวมกับพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ แต่เพิ่งมาชัดเจนในช่วงท้ายของการหาเสียง ซึ่งผลออกมาคือแพ้คะแนนเสียงของก้าวไกล นี่คือความไม่ชัดเจน หากไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐจริงๆ น่าจะเกิดปัญหา” นายปริญญา กล่าว
นายปริญญา กล่าวว่า เหตุผลเดียวที่จะเปลี่ยนสูตรให้เพื่อไทยไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐได้คือ พรรคเพื่อไทยเสนอเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่ได้คะแนนเสียง 376 เสียง จึงจะมีความชอบธรรมที่จะคิดถึงสูตรอื่น ดังนั้น อยู่ดีๆ จะไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐเลย คาดว่าเรื่องมันน่าจะยุ่ง และเข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะมองเห็นปัญหานี้เช่นกัน
ส่วนข้อสังเกตพรรคเพื่อไทยจะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะต้องการให้นายทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม นายปริญญา กล่าวว่า หนึ่งในเหตุผลที่เพื่อไทยแพ้ก้าวไกลเพราะการพูดเรื่องกลับบ้านของนายทักษิณบ่อยเกินไป มีผลโดยตรงที่ทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องที่มาพัวพันเรื่องส่วนตัว ทำให้ประชาชนหันมาเลือกพรรคก้าวไกล หากจะนำประเด็นการกลับบ้านมาเป็นหลักและทำให้เกิดการเปลี่ยนสูตรให้เพื่อไทยรวมกับพลังประชารัฐ และให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน จะเกิดผลเสียหายกับพรรคเพื่อไทยตามมาอีกมาก ไม่เพียงผลเสียในการเลือกตั้งคราวหน้า แต่จะรวมถึงผลระยะสั้นต่อพรรคเพื่อไทยด้วย
เมื่อถามว่าหากพรรคเพื่อไทยไม่คำนึงถึงเสียงประชาชน แต่ยึดหลักว่าเมื่อเป็นพรรคอันดับสองก็ตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกลได้ นายปริญญา กล่าวว่า หากพรรคการเมืองไม่ใส่ใจในเสียงของประชาชน ไม่มีพรรคไหนอยู่รอดสักพรรคเดียว และใน MOU ของพรรคร่วม มีประเด็นเรื่องการให้ความยุติธรรมอยู่แล้ว ซึ่งหมายรวมถึงประชาชนและนายทักษิณที่จะได้ประโยชน์ตรงนั้นอยู่แล้ว ซึ่งตนไม่อยากจะคิดว่าพรรคเพื่อไทยจะคิดเฉพาะตัวนายทักษิณ ยังอยากมองในแง่ดีว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะไม่มีพรรคการเมืองใดที่จะเดินหน้าต่อไปได้ หากไม่ใส่ใจเสียงของประชาชน และเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะได้บทเรียนจากผลการเลือกตั้ง และเรื่องการต่อรองตำแหน่งประธานสภาฯ พรรคเพื่อไทยได้เห็นกระแสสังคมที่ชัดเจนและยอมถอยหลายเรื่อง
ส่วนการประชุมร่วม 8 พรรค วันที่ 2 กรกฎาคม จะจบลงด้วยดีหรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรจบแล้ว เพราะหากไม่จบ พรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นพรรคที่ลำบาก เพราะพรรคเพื่อไทยในสมัยที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ก็ขอตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไว้ตลอด จึงเป็นสิทธิของพรรคอันดับหนึ่งที่จะขอตำแหน่งประธานสภาฯ เพราะในทางปฏิบัติต้องเลือกประธานสภาฯ ก่อน เพราะประธานสภาฯ จะเป็นผู้ควบคุมการประชุมในการเลือกนายกรัฐมนตรี
“เป็นเรื่องปกติที่พรรคอันดับหนึ่งจะอยากได้ประธานสภาฯ ของตัวเอง แต่เมื่อกระแสสังคมไม่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยจึงยอมถอย จึงยังมองโลกในแง่ดีว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ไปไกลถึงขั้นไปรวมกับขั้วอำนาจเก่า สถานการณ์การเมืองยังไม่น่าจะไปถึงจุดนั้น อย่างไรก็ตาม ขอให้รอดูวันที่ 4 กรกฎาคม หากการเลือกประธานสภาฯ ราบรื่น เราจะรู้ว่าจะเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อไร ซึ่งจะได้เห็นความชัดเจนของความเคลื่อนไหวของฝ่ายที่จะสนับสนุนและขัดขวางที่จะชัดเจนขึ้น” นายปริญญา กล่าว.-สำนักข่าวไทย