ศาลปกครอง 15 มี.ค. – “ชัยวัฒน์” ร้องศาลปกครองเพิกถอนมติ คทช.-ครม. ใช้แนวเขตสำรวจปี 43 เฉือนพื้นที่ป่าทับลาน แก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ-แผนยุทธศาสตร์ชาติ เชื่อส่งผลให้คดีนายทุนรุกป่าพลิกแน่
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ายื่นฟ้องคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ คณะอนุกรรมการนโยบายแนวทางและมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ตามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติที่ 3/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนมติคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ละมติ ครม. ที่ให้ใช้เส้นปรับการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 และขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้เส้นปรับการสำรวจแนวเขตปี 2543 ในการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐซ้อนทับกัน รวมถึงขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองสถานภาพอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยไม่ให้เพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาอุทยานแห่งชาติทับลาน 2524
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า มติ คทช. และมติ ครม. ที่เห็นชอบการใช้เส้นปรับการสำรวจแนวเขตปี 2543 จะส่งผลให้การกันพื้นที่ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเป็นจำนวน 273,310 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 19.52 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานทั้งหมด ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 65 ขัดต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดให้เพิ่มพื้นที่ป่าในห้วงปี 2566-2570 ร้อยละ 33 และในช่วงปี 2576-2580 ต้องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 ของพื้นที่ประเทศ ทั้งยังขัดต่อนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งการกันพื้นที่ดังกล่าวออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นการลดพื้นที่สีเขียวที่เป็นป่าธรรมชาติลงร้อยละ 0.85 ของพื้นที่ประเทศ และยังพบว่าอนาคตจะใช้แนวทางดังกล่าวจัดการกับปัญหาที่ดินของรัฐทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานชาติเขาแหลมหญ้าหมู่เกาะเสม็ด อุทยานแห่งชาติสิรินาถ และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพีด้วย
“ก่อนหน้านี้นโยบายของรัฐสั่งให้พวกตนเพิ่มพื้นที่ป่า โดยเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์ วันนี้เรามีพื้นที่ป่าเพียงแค่ 30% ในภาพรวมของกรมป่าไม้ การจะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ตามแผนที่วางไว้แต่ละปี เราต้องหาพื้นที่ป่าปีละ 3 ล้านกว่าไร่ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายทะเลาะกับชาวบ้าน บางคนถูกยิงตายก็มี ถูกฟ้องร้องก็มี ซึ่งแค่จะรักษาพื้นที่ป่าที่มีอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ก็เลือดตาแทบกระเด็น แต่นโยบายของรัฐกลับมาเฉือนพื้นที่ป่าออกไป การที่นโยบายรัฐบอกว่าต้องการเอาที่ดินให้กับราษฎร ตามมาตรา 64 ให้สิทธิตรงนี้อยู่แล้ว แต่นโยบายรัฐต่อไปคือยกที่ดินนี้ให้ ส.ป.ก. ซึ่งนโยบายของ ส.ป.ก. เป็นที่รู้กันว่าเปลี่ยนทุนเป็นทรัพย์ คือเพื่อเปลี่ยนจาก ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่ดิน มองเห็นผลอยู่แล้วว่าบริเวณนี้ 2.7 แสนล้านไร่ ที่ถูกเฉือนออก ที่สุดแล้วจะกลายเป็นอะไร” นายชัยวัฒน์ กล่าว
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่บุกรุก 400 กว่าคดี หากเปลี่ยนไปเป็นของ ส.ป.ก. ถึงเวลานั้นรูปคดีจะเปลี่ยนทันที เพราะพื้นที่ที่บุกรุกไม่ใช่ป่าสงวนฯ ไม่ใช่อุทยานฯ แล้ว ผู้ใช้ที่ถูกดำเนินคดีก็จะได้กลับมาใช้สิทธิเหมือนเดิม สุดท้ายพื้นที่นี้จะสามารถนำมาแปลงเป็นโฉนดที่ดินได้ วันนี้จึงต้องมายื่นให้ศาลตรวจสอบกระบวนการและมติดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เมื่อถามว่าหากไม่ใช้แนวทางดังกล่าวจะแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อนอย่างไร นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เราต้องดูว่าประเทศต้องการอะไรก่อน ถ้าบอกว่าป่าสำคัญ ภัยพิบัติเกิดทีหลัง เกิดมาจากการรุกป่า ถ้าเรามองอย่างนี้จะมองว่าจำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่ป่าให้ครบ 40% แล้วเราค่อยไปโฟกัสในพื้นที่ one map ว่าป่าต้องคงอยู่ ซึ่งเราต้องเพิ่มพื้นที่ป่าปีละ 3 ล้านไร่ แต่ข้อเท็จจริงเอาแค่ปีละไร่เดียวยังไม่ได้เลย และถ้าวันนี้เราเฉือนให้เขา ซึ่งเป็นกลุ่มนายทุนทั้งหมด 2.7 แสนล้านไร่ แล้วอนาคตถ้าทำทั่วประเทศจะหายไป 4 .72 ล้านไร่ ถ้าเขาขอในป่าอนุรักษ์แบบนี้หมดจะทำอย่างไร ต้องให้เขาหรือไม่.-สำนักข่าวไทย