กรุงเทพฯ 27 พ.ค.- ปตท.เตรียมนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์ บริจาครัฐ ใช้รักษาโควิด-19ลดความเสี่ยงผู้เสียชีวิต ส่วนจะมีการซื้อวัคซีนทางเลือกจะมากน้อยเพียงใดแล้วแต่การจัดสรรของ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ในปลายเดือน มิถุนายนนี้ ปตท.โดยบริษัทลูกในเครือ บริษัท อินโนบิก(เอเซีย) จำกัด ซึ่งร่วมทุนกับ Lotus บริษัทยาแห่งไต้หวัน เตรียมนำเข้า ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงแล้วในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) อังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยจะนำเข้ามา 2 พันขวด เพื่อบริจาคให้รัฐบาลไทยไปบริหารจัดการในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19
โดยปัจจุบันนี้ประเทศไทยนำเข้ามาแล้ว 4 พันขวด และมีความจำเป็นต้องใช้มากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันในส่วนยาต้านไวรัสเพื่อใช้รักษาอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ได้แก่ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) พบว่าผู้ใช้บางส่วน เช่น หญิงตั้งครรภ์ มีอาการแพ้ ดังนั้น ก็เชื่อว่า ยาเรมเดซิเวียร์ จะมาช่วยคนไทยผู้ป่วยโควิด-19 หายจากโรค ลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
ส่วนการใช้วัคซีนทางเลือก ซึ่ง ปตท. ได้ลงนามกับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวแทนของรัฐบาล ในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนเพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชน นั้นจะมีปริมาณเท่าใด หรือเป็นยี่ห้อใด ขึ้นอยู่กับการจัดสรรของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดย ปตท.จะนำไปใช้สำหรับพนักงานของกลุ่ม ปตท. ซึ่งก็จะช่วยลดภาระการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลได้ส่วนหนึ่ง และเป็นการหนุนเสริมการบริหารการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชน ในขณะเดียวกัน ปตท.ก็พร้อมร่วมเป็นพื้นที่กระจายวัคซีนของภาครัฐ นอกเหนือจากสถานีบริการน้ำมันพีทีทีสเตชั่น ใน กทม.ก็พร้อมจะใช้พื้นที่อื่นๆ ของกลุ่ม ปตท.ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดระยอง และจังหวัดอื่นๆ ในการเป็นพื้นที่กระจายวัคซีนให้ทั่วถึง
สำหรับการช่วยเหลือสังคมในวิกฤตโควิด-ระลอกที่ 3 ในขณะนี้ กลุ่ม ปตท. มีการใช้เงินไปแล้วประมาณ 170 ล้านบาท จากที่ ตั้งกรอบวงเงินไว้ราว 200 ล้านบาท วงเงินช่วยเหลือ จะเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็แล้วแต่สถานการณ์ โดยที่ผ่านมาการช่วยเหลือก็จะดูถึงความต้องการความจำเป็นในการช่วยเหลือเป็นหลัก โดยจะมีการสำรวจความต้องการโดยรวม เช่น การบริจาค เครื่องช่วยหายใจไปแล้ว กว่า 300 เครื่องแก่โรงพยาบาลต่างๆ รวมถึงออกซิเจนและอื่นๆ
ขณะเดียวกัน ในแง่ลมหายใจด้านเศรษฐกิจ ที่ภาวะเช่นนี้ การส่งออกเป็นเครื่องจักรหลักสำหรับเศรษฐกิจชองประเทศ ทางกลุ่ม ปตท.ได้ร่วมบริหารงาน ให้เดินเครื่องเต็มที่ เพื่อสร้างรายได้ของประเทศ เช่น ปิโตรเคมี และโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ส่งออก โดยภาวะวิกฤต กลุ่ม ปตท.ได้ใช้แนวทางบริหารความเสี่ยงทุกด้าน เข้ามาร่วมดูแล วางแผนการทำงาน เช่น ระดับโรงงาน ก็วางแผนป้องกันการติดเชื้อของพนักงานอย่างเข้มข้นเป็น นับเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ผลประกอบการไตรมาส 1 /64 ออกมาดี
“ผลประกอบการของ ปตท. ที่ดีขึ้นในไตรมาส 1/64 ที่มีกำไร 32,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 นอกจากสถานการน้ำมัน และปิโตรเคมี ที่ดีขึ้นแล้ว ยังมาจาก กลุ่ม ปตท. สามารถบริหารจัดการการดำเนินงานได้ operation ทำได้อย่างดีเยี่ยม ไม่สะดุด มีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะดำเนินการภายใต้สถานการณ์โควิด-19” นายอรรถพล กล่าว -สำนักข่าวไทย