กรุงเทพฯ 11 มี.ค.-มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน มั่นใจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม
นายธนวรรธ์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าทุกรายการกลับมาปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ที่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่โดยมีจุดเริ่มต้นในจังหวัดสมุทรสาครในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 เนื่องจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศไทยเริ่มปรับตัวลดลง ประกอบกับการเริ่มต้นการฉีดวัคซีนโควิดของรัฐบาลเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้นและจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงอย่างชัดเจน ตลอดจนการฉีดวัคซีนของทั้งโลกทำให้สถานการณ์โควิดในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย และมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการ “เราชนะ” และโครงการต่าง ๆ ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 43.4 46.1 และ 58.7 ตามลำดับ โดยปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมกราคม ที่อยู่ในระดับ 41.6 45.1 และ 56.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤต COVID-19 รอบใหม่ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสปรับตัวแย่ลงได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคลดลงในที่สุด
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 47.8 มาอยู่ที่ 49.4 แสดงว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 55.1 มาอยู่ที่ระดับ 56.8 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติ (คือ 100) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต
“โดยภาพรวมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยเฉพาะไตรมาส 1 อาจติดลบร้อยละ 1 แต่เมื่อรัฐบาลมีการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านโครงการต่าง ๆ ได้อีกนับเป็นแสนล้านบาทในช่วงไตรมาสที่ 2 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ร้อยละ 1-2 และเมื่อรัฐบาลมีแผนการฉีดวัดซีนที่ชัดเจนและต่อเนื่องได้ จะทำให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะกลับมาบวกได้ร้อยละ 0-1 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีจะเติบโตได้ร้อยละ 3 รวมถึงการส่งออกของไทยจะเป็นบวกร้อยละ 3-5 แต่สิ่งที่ภาคส่งออกกังวลคือความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูแลใกล้ชิดกันต่อไป และจะต้องติดตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในเทศกาลสงกรานต์ แม้จะอยู่ในช่วงโควิดแต่หากมีแผนดูแลป้องกันปัญหาแพร่ระบาดโควิดได้เทศกาลสงกรานต์ปีนี้น่าจะมีเงินสะพัดได้มากกว่า 140,000 ล้านบาท”นายธนวรรธ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย