26 มี.ค. – SME D Bank เผยดัชนีเชื่อมั่นเอสเอ็มอี ไตรมาส 1/68 ปรับดีขึ้นจาก 55.21 เป็น 62.40 อานิสงส์เศรษฐกิจฟื้นตัว คาด 3 เดือนข้างหน้า ปรับเพิ่มขึ้นทุกด้าน เตรียมออกดอกเบี้ยต่ำ ช่วยเอสเอ็มอี
นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank โดย “ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว.” ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 1/2568 และคาดการณ์อนาคต” พบว่า ไตรมาส 1 ปี 2568 ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการทำธุรกิจปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยดัชนีรวมเพิ่มขึ้นจาก 55.21 ในไตรมาสที่แล้ว (Q4/67) เป็น 62.40 โดยเฉพาะด้านผลประกอบการ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ยอมรับต้นทุนการประกอบธุรกิจยังคงเป็นปัจจัยกดดัน ขณะที่ปัจจัยหลักที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การบริโภคและการท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และเสถียรภาพของปัจจัยทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ วิสาหกิจรายย่อย (Micro) มีดัชนีความเชื่อมั่นสูงกว่ากลุ่มอื่น อยู่ที่ 65.20 สะท้อนว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs ภาคการผลิตและการท่องเที่ยว มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับสูงสุด ซึ่งเชื่อมั่นใกล้เคียงกันในทุกภูมิภาค และใกล้เคียงกันทั้งเมืองใหญ่และเมืองรอง
สำหรับองค์ประกอบของดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาส 1 ปี 2568 ที่ปรับดีขึ้นเกือบทุกด้าน สัดส่วนจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ที่ตอบว่า ผลประกอบการเพิ่มขึ้นที่ 53.20% จาก 30.40% ในไตรมาส 4 ปี 2567 จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อปริมาณการผลิต สภาพคล่องและการลงทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SMEs ยังกังวลต้นทุนวัตถุดิบ บริการ ราคาพลังงานผันผวน รวมถึงดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อความเชื่อมั่นด้านต้นทุน
ส่วนคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า หรือช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 นั้น ผู้ประกอบการ SMEs มีความเชื่อมั่นภาพรวมเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 70.10 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบทุกด้าน จากแรงสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการบริโภคอย่างต่อเนื่อง รวมถึง การขยายตัวของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการประกอบธุรกิจ จะกลับมาเป็นปัจจัยกดดันธุรกิจเพิ่มขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยกลุ่มวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ยังคงเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นสูงสุด และเมื่อพิจารณาตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่า ภาคก่อสร้างมีความเชื่อมั่นสูงที่สุด ส่วนหนึ่งจากการลงทุนโครงการก่อสร้างภาครัฐ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีระดับความเชื่อมั่นลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเข้าสู่ช่วง Low Season
ผู้ประกอบการ SMEs ในทุกพื้นที่ มีคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า เชื่อมั่นแนวโน้มเชิงบวก โดยในพื้นที่เมืองรอง แนวโน้มเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมากกว่าเมืองใหญ่เล็กน้อย ส่งผลให้ในภาพรวมมีสัดส่วนผู้ประกอบการ SMEs ที่ตอบว่าจะลงทุนเพิ่มขึ้น รวมถึงสภาพคล่องยังคงเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยที่จูงใจให้ผู้ประกอบการ SMEs จะลงทุนเพิ่ม ได้แก่ เห็นโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลัก โดยวัตถุประสงค์อันดับหนึ่งเพื่อขยายกำลังการผลิตและการลงทุนในโครงการใหม่

ภาพรวมสัดส่วนผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความต้องการสินเชื่อ SMEs ในอีก 3 เดือนข้างหน้า คิดเป็น 52.20% เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสัดส่วน 41.20% และเพื่อลงทุน 11.00% อย่างไรก็ตาม แม้ความต้องการลงทุนจะเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการสินเชื่อเพื่อลงทุนในธุรกิจ ไม่ได้อยู่ในสัดส่วนที่สูงมากนัก เนื่องจากธุรกิจมีสภาพคล่องสูง มีแหล่งเงินทุนภายในธุรกิจเพียงพอที่จะขยายการลงทุนอยู่แล้ว และเมื่อพิจารณาแยกตามพื้นที่ความต้องการสินเชื่อ ผู้ประกอบการ SMEs ในเมืองรองมีความต้องการสูงกว่าเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในธุรกิจ แม้ไตรมาส 2 เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน แต่ปัจจุบัน ปี 2568 อยู่ในช่วงปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้มีปริมาณฝนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs เกือบทั้งหมด จึงคาดว่า ได้รับผลกระทบน้อยกว่าปี 2567 ที่ผ่านมา และไม่ได้รับผลกระทบจากภัยร้อนที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม ในปีที่ 2567 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ SME ต้องลงทุนและปรับตัวรับภัยร้อนหลากหลายมาตรการ แต่ความกังวลลดลงในปี 2568 รวมถึง ในปี 2567 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ SMEs ยังต้องเผชิญกับต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และต้นทุนการจัดเก็บสินค้า ตามด้วยปัญหาสินค้าและวัตถุดิบเสื่อมสภาพ และพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไป ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจลดลง ดังนั้น จึงต้องลงทุนยกระดับปรับเปลี่ยนธุรกิจ รูปแบบหรือกระบวนการ เพื่อลดต้นทุนธุรกิจ เช่น การจัดพื้นที่ปรับอากาศ ปรับเวลาการให้บริการ และลงทุนในพลังงานทางเลือก เป็นต้น
นายพิชิต กล่าวเสริมว่า จากผลสำรวจบ่งบอก ผู้ประกอบการ SMEs มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น และต้องการเงินทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพ โดยเฉพาะรับมือกับภาวะโลกร้อน แต่ยังมีความกังวลเรื่องต้นทุนธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น SME D Bank จัดเตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่จะช่วยบรรเทาภาระ ลดต้นทุนทางการเงิน ด้วยจุดเด่นอัตราดอกเบี้ยเพียง 3%ต่อปี คงที่ตลอด 3 ปีแรก ผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี ได้แก่ 1.สินเชื่อ “ปลุกพลัง SME” วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 1.5 ล้านบาท สนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงแหล่งทุน 2.สินเชื่อ “Beyond ติดปีก SME” วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาท สนับสนุนให้เอสเอ็มอีเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ และ 3.สินเชื่อ “SME Green Productivity” วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลงทุนติดตั้งเครื่องจักร ระบบ อุปกรณ์ เพื่อใช้พลังงานสะอาด และลดใช้พลังงาน
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถแจ้งความประสงค์รับบริการได้ ณ สาขา SME D Bank ทั่วประเทศ หรือช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เช่น LINE Official Account : SME Development Bank และเว็บไซต์ www.smebank.co.th เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357. -515 -สำนักข่าวไทย