กรุงเทพฯ 29 ม.ค.- ปี 2566 ยอดผลิตรถยนต์หลุดเป้าเหตุแบงก์เข้มอนุมัติปล่อยกู้ โดยทั้งปีผลิตได้ 1,841,663 คัน หดตัว 2.22% ขณะที่มีรถ EV จดทะเบียนใหม่พุ่ง 381.77% ส.อ.ท.ตั้งเป้าปี 67 ผลิตรถยนต์ 1,900,000 คัน
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในปี 2566 (มกราคม – ธันวาคม) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,841,663 คัน ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 2.22 โดยเฉพาะเดือนธันวาคม 2566 ผลิตรถยนต์ได้จำนวน 133,621 คัน ซึ่งลดลงจากเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ร้อยละ 15.75 จากการผลิตขายในประเทศลดลงถึงร้อยละ 29.94 โดยเฉพาะรถกระบะที่ผลิตลดลงถึงร้อยละ 41.30 ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะเพราะหนี้ครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 90.6 ของ GDP เศรษฐกิจชะลอตัวลงจากผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงตามการส่งออกที่ลดลง โรงงานจึงลดกะทำงานและลดทำงานล่วงเวลา คนงานขาดรายได้ ประกอบกับค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้เหลือเงินไม่เพียงพอในการใช้จ่ายอย่างอื่นได้
นอกจากนี้การลงทุนและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐก็ยังต้องรองบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่ล่าช้าออกไปอีกหลายเดือน รวมถึงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาขายในประเทศ โดยมียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าถึง 75,690 คัน ทำให้ผลิตรถยนต์นั่งลดลงร้อยละ 16.24 แต่การผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกปี 2566 กลับเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.44 ตามยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.30 และสูงกว่าส่งออกปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด 19 และลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 18.19 เนื่องจากวันทำงานน้อยกว่า
อย่างไรก็ตามกลับพบว่า ตัวเลขส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปทั้งปี 2566 อยู่ที่ 1,117,539 คัน สูงกว่าปี2562 ที่เกิดการระบาดของโรคโควิด – 19 ปี และเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 11.73 ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ยังมียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ยกเว้นตลาดแอฟริกาที่ลดลง
ขณะที่ทั้งปีมียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 100,214 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 381.77 ส่วนเฉพาะเดือนธันวาคม มีจดทะเบียนใหม่มีจำนวน 11,187 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมปีที่แล้วร้อยละ 317.43
สำหรับปี 2567 กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ตั้งเป้าผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 1,900,000 คัน หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.17 เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะซึ่งขนส่งสินค้าและคน เพื่อส่งออกไปทั่วโลกกว่าหนึ่งร้อยประเทศ จึงไม่ได้รับผลกระทบมากจากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประเทศจีนเปิดประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้การค้าโลกและการท่องเที่ยวเติบโต จึงเป็นปัจจับวกต่อการส่งออกของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ปัยหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลายลงมาก ส่งผลให้การผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น การลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย คำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้า สหรัฐฯ, ยุโรป, จีน เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มอ่าวอาหรับ GCC
และอัตราดอกเบี้ยอาจอยู่ในช่วงขาลงทำให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจับลบ เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและความขัดแย้งระหว่างประเทศอาจขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและการเพิ่มขึ้นใหม่ซึ่งจะ ส่งผลต่อการส่งออกลดลงและเงินเฟ้ออาจสูงขึ้น ตลาดทั้งในและต่างประเทศเกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และคู่แข่งเกิดขึ้นในภูมิภาคเพิ่มขึ้น นโยบายของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก เช่น การขึ้นภาษีสรรพสามิตในรถยนต์บางประเภทในลาว
ส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ตั้งเป้าเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 9.39 หรือผลิตได้ 750,000 คัน จากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาไทย ทำให้เกิดการเชื่อมโยง Supply Chain ของอุตสาหกรรม ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นทั่วโลกจากกฎระเบียบและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เริ่มมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แต่ขระเดียวกัน หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ ค่าครองชีพ อัตราดอกเบี้ย ที่พาเหรดสุงขึ้นส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของประชาชนลดลง ทำให้ยอดขายอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีsupply chain หลายอุตสาหกรรมชะลอตัวลง
ส่งผลต่อการจ้างงาน ทำให้รายได้คนงานก่อสร้างและโรงงานลดลง งบประมาณรายจ่ายประจำปี2567 ล่าช้าออกไปราวแปดเดือนทำให้การลงทุนและการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้าออกไปด้วย ส่งผลให้การลงทุนการจ้างงานของเอกชนล่าช้าออกไป เศรษฐกิจจึงเติบโตในระดับต่ำ ความขัดแยังระหว่างประเทศอาจขยายตัวและเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่จะส่งผลให้ราคาพลังงาน สินค้า และวัตถุดิบสูงขึ้น และการส่งออกสินค้าต่างๆ ในปีนี่อาจลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงส่งผลการผลิตการลงทุนการจ้างงานลดลง อำนาจซื้อลดลง.-517-สำนักข่าวไทย