“ทุนหมุนเวียน” หนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ

20 มิ.ย. – การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ทั้งในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจ การรักษาเสถียรภาพด้านราคา การกระจายรายได้ เพื่อให้ประเทศชาติมั่นคง เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเกิดความคล่องตัว จำเป็นต้องอาศัย “ทุนหมุนเวียน” มาเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ


ทุนหมุนเวียน คือ อะไร???
ความหมายตามพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
1) พ.ร.บ. เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ระบุความหมายของทุนหมุนเวียนไว้ว่า “ทุนหมุนเวียน” หมายความว่า ทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อกิจการซึ่งอนุญาตให้นำรายรับสมทบทุนไว้ใช้จ่ายได้
2) พ.ร.บ. การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ.2558 ระบุความหมายของทุนหมุนเวียน หมายความว่า “ทุนหมุนเวียน” หมายความว่า กองทุน กองทุนหมุนเวียน เงินทุน เงินทุนหมุนเวียน ทุน หรือทุนหมุนเวียน ที่ตั้งขึ้นเพื่อกิจการที่อนุญาตให้นํารายรับสมทบทุนไว้ใช้จ่ายได้ โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เป็นรายได้แผ่นดิน
3) พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ได้ให้ความหมาย “ทุนหมุนเวียน” หมายความว่า กองทุน กองทุนหมุนเวียน เงินทุน เงินทุนหมุนเวียน ทุน หรือ ทุนหมุนเวียน ที่ตั้งขึ้นเพื่อกิจการที่อนุญาตให้นํารายรับสมทบทุนไว้ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง

“ทุนหมุนเวียน” ในที่นี้จึงหมายถึง กองทุน หรือ ทุนหมุนเวียน เงินทุน หรือ เงินทุนหมุนเวียน จัดตั้งขึ้นตามความจำเป็นของหน่วยงานรัฐ หรือ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อกิจการที่อนุญาตให้นำรายรับสมทบทุนไว้ใช้จ่ายได้ โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ทุนหมุนเวียนถือเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาประเทศ นับเป็นอีกแนวทางให้รัฐบาลมีช่องทาง ดำเนินกิจกรรมที่จำเป็นและสำคัญได้อย่างคล่องตัว เมื่อรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางปกติ ทุนหมุนเวียนที่จัดตั้งขึ้นในหน่วยงานของรัฐ จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และกฎหมายเฉพาะดำเนินการภายใต้กรอบวัตถุประสงค์และกิจกรรมที่แตกต่างกันตามความจำเป็นและภารกิจของ หน่วยงานนั้น ๆ


“ทุนหมุนเวียน” มีส่วนสำคัญในการตอบสนองนโยบายด้านต่าง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารและการพัฒนาประเทศ ทั้งทางตรง และทางอ้อม เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การเข้าถึงแหล่งทุนอย่างเท่าเทียมกัน การสร้างโอกาสและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร แรงงาน ผู้สูงอายุ คนพิการ การสร้างโอกาสทางการศึกษา สาธารณสุข การจัดสวัสดิการเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน การส่งเสริมการท่องเที่ยว สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี โดยขับเคลื่อนผ่านการดำเนินงานของกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กองทุนประกันสังคม กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย

จะเห็นว่า “ทุนหมุนเวียน” มีความสำคัญอย่างมากในการส่งเสริม ผลักดัน กระตุ้นพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม คุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อให้การดำเนินงานของทุนหมุนเวียนมีประสิทธิภาพสูงสุด การพิจารณาจัดตั้งทุนหมุนเวียน จะกระทำได้เฉพาะกรณีที่เป็นกิจกรรมที่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามหน้าที่ เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม หรือเพื่อช่วยเหลือในการครองชีพ และไม่สามารถใช้วิธีการดำเนินการตามระเบียบของทางราชการได้ ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวต้องกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดจากการดำเนินงานกลับเข้าสมทบเป็นแหล่งรายรับของทุนหมุนเวียน ซึ่งมิใช่มาจากเงินงบประมาณแผ่นดินแต่เพียงอย่างเดียว โดยอนุญาตให้นำเงินรายรับนั้นมาสมทบไว้ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง

การจัดตั้ง “ทุนหมุนเวียน”
ตาม พ.ร.บ. วินัยทางการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ตามมาตรา 63 กำหนดไว้ว่า การจัดตั้งทุนหมุนเวียนให้กระทำได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเท่านั้น โดยต้องมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งที่ชัดเจนและเป็นกรณีที่เป็นกิจกรรมที่หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม และเหมาะสมที่จะอนุญาตให้นำรายรับจากการดำเนินกิจกรรมนั้นสมทบทุนไว้ใช้จ่ายได้ รวมถึงไม่ซ้ำซ้อนกับทุนหมุนเวียนที่จัดตั้งไว้แล้ว


คุณลักษณะของทุนหมุนเวียนที่รัฐขอจัดตั้ง ต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
1.เป็นกิจกรรมของหน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม
2.การดำเนินงานต้องไม่ซ้ำซ้อนกับทุนหมุนเวียนที่ได้ดำเนินการแล้ว หรือไม่ซ้ำซ้อนกับหน้าที่หลักของหน่วยงานอื่น หรือมีการดำเนินงานในลักษณะเดียวกับการปฏิบัติงานตามภารกิจปกติของส่วนราชการ


ปัจจุบันมีจำนวนทุนหมุนเวียนมากกว่า 100 ทุน แต่การดำเนินงานของแต่ละทุนหมุนเวียนมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ไม่ซ้ำซ้อนกับหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐอื่น หรือทุนหมุนเวียนที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว แต่อาจจะมีลักษณะการดำเนินงานคล้ายคลึงกัน ดังนั้น เพื่อให้ง่ายต่อการกำกับดูแล กรมบัญชีกลางได้แบ่งประเภทของทุนหมุนเวียนออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

1.ประเภทเพื่อการกู้ยืม
ทุนหมุนเวียนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินทุนมาปล่อยกู้ (คิดดอกเบี้ย) หรือให้ยืมเงิน (ไม่คิดดอกเบี้ย) และมีการกำหนดให้ผ่อนชำระคืน โดยอาจจะมีรายจ่ายให้เปล่าบางส่วน หรือจัดหาสิ่งของ กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน นักเรียนนักศึกษา ข้าราชการ พนักงานของรัฐ และประชาชนทั่วไป เช่น เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน กองทุนช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น

2.ประเภทเพื่อการจำหน่ายและการผลิต
ทุนหมุนเวียนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อซื้อและ/หรือผลิตสินค้าต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายให้แก่หน่วยงานราชการ องค์กรเฉพาะกิจต่าง ๆ รวมทั้งภาคเอกชน และประชาชน เช่น เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธุ์พืช เงินทุนหมุนเวียนโรงงานเภสัชกรรมทหาร เงินทุนหมุนเวียนเพื่อจัดทำแผ่นป้ายทะเบียนรถ เป็นต้น

3.ประเภทเพื่อการบริการ
ทุนหมุนเวียนที่มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการในรูปแบบต่าง ๆ แก่หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป โดยมีรายได้หลักจากการให้เช่าเครื่องมืออุปกรณ์ การเก็บค่าเข้าชมสถานที่ ให้เช่า ให้ใช้สถานที่ เผยแพร่ผลงาน โดยมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้า และบริการ เช่น เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง เงินทุนค่าเครื่องจักรกลของกรมทางหลวง เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการบริหารท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ – กองทัพเรือ เป็นต้น

4.ประเภทสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม
ทุนหมุนเวียนที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เงินทดแทน ช่วยเหลือ สงเคราะห์แก่ประชาชนโดยรวม โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่ด้อยโอกาส หรือประสบปัญหาความยากลำบาก ให้ได้รับประโยชน์จากภาครัฐอย่างเท่าเทียมกัน โดยกลุ่มเป้าหมายอาจมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนด้วย เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา เป็นต้น

5.ประเภทเพื่อการสนับสนุนส่งเสริม
ทุนหมุนเวียนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ของภาครัฐ และประชาชนส่วนรวม โดยไม่มุ่งหวังผลกำไร ส่วนใหญ่เป็นการให้ความช่วยเหลือโดยการให้เปล่า (ผลประโยชน์เป็นของกลุ่มเป้าหมาย) เช่น กองทุนคุ้มครองเด็ก กองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น

นับว่าทุนหมุนเวียน มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนา และสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐในด้านต่างๆ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงทุนหมุนเวียน เพื่อรับการช่วยเหลือ สนับสนุน หรือบริการได้ตามช่องทางที่หน่วยงานกำหนดโดยตรง ซึ่งทุนหมุนเวียน ทั้ง 5 ประเภท กระจายตัวอยู่ในกระทรวงต่างๆ ทุนหมุนเวียน จึงเป็นทางออกของส่วนราชการ เพื่อนำมาใช้ดูแลประชาชนให้คล่องตัวได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม กรมบัญชีกลางได้ผลักดันให้ทุนหมุนเวียน พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล มาให้บริการประชาชน/ผู้รับบริการ เพื่อให้ได้รับความสะดวก ถูกต้อง และรวดเร็ว . – สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี