กรุงเทพฯ 19 เม.ย. – สำนักงาน กกพ. เผยเร่งเปิดรับซื้อพลังงานทดแทนรอบ 2 ให้เร็วที่สุด ยืนยันคัดเลือกรอบแรกโปร่งใส ตาม CODE ไม่รับทราบรายชื่อบริษัทที่เสนอ ระบุค่าไฟฟ้าพลังงานทดแทนช่วยลดค่าไฟฟ้าในอนาคตได้ หากไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลโรงใหม่
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง รอบที่ 2 จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ ขณะนี้ทาง กกพ.อยู่ระหว่างการพิจารณาตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยจะเปิดให้เร็วที่สุด ภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยแม้ว่าจะอยู่ในช่วงเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ทำให้เรื่องนี้สะดุด เพราะมติ กพช.เห็นชอบไว้แล้ว
โดยการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมในครั้งนี้ แบ่งเป็น พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) จำนวน 2,632 เมกะวัตต์, พลังงานลม จำนวน 1,000 เมกะวัตต์, ขยะอุตสาหกรรม จำนวน 30 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) จำนวน 6.5 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องพิจารณามติ กกพ.ให้ชัดเจน เพราะการรับซื้อรอบใหม่นี้มีทั้งขยายการรับซื้อจากที่เสนอมาของเดิม และการรับซื้อใหม่ แต่ภาพรวมแล้วก็ให้ซื้อจากกลุ่มที่เสนอขายในครั้งแรก ไม่ได้เปิดให้รายใหม่เสนอเข้ามาแต่อย่างใด จึงต้องพิจารณามติเหล่านี้ให้รอบคอบ
ทั้งนี้ บอร์ด กกพ. เมื่อวันที่ 5 เม.ย.66 ได้พิจารณาเห็นชอบรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกรอบแรก จำนวน 175 ราย ปริมาณเสนอขาย 4,852.26 เมกะวัตต์ จากที่มีการเสนอ 670 โครงการ กว่า 1.7 หมื่นเมกะวัตต์ โดยการไฟฟ้าฯ ได้ส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เมื่อวันที่ 19 เม.ย. และลงนามภายใน 180 วัน
“ขอยืนยันว่า การพิจารณาโครงการเป็นไปอย่างโปร่งใส และบอร์ด กกพ.ไม่ทราบว่าบริษัทใดเสนอมา เพราะการพิจารณาจะเป็นไปตาม CODE ที่คัดเลือกตามหลักเกณฑ์ของ กพช. คือไม่ได้พิจารณาจากข้อเสนอเรื่องค่าไฟต่ำสุด แต่พิจารณาเรื่องความพร้อมที่จะก่อสร้างโครงการเพื่อให้ผลิตไฟฟ้าได้ตามแผนงาน อย่างไรก็ตาม ถือว่าค่าไฟฟ้าพลังงานทดแทนเฉลี่ย 2.1 บาท/หน่วย ก็ถูกกว่าค่าเอนเนอร์ยี่ของค่าไฟในระบบที่ 2.7 บาท/หน่วย ซึ่งหากคำนวณจากสำรองไฟฟ้าในขณะนี้ แล้วเพิ่มพลังงานทดแทนให้มีสัดส่วนร้อยละ 10-30 เมกะวัตต์แล้ว ไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลเพิ่มเติมอีก ก็นับเป็นทางเลือกที่ดีต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า และช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย” นายคมกฤช กล่าว
โดยก่อนหน้านี้ กพช.เห็นชอบส่งเสริมพลังงานทดแทน รับซื้อเพิ่มเติมตามแผน PDP2018 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) ปี 2564-2573 จากเดิม 10,000 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 12,700 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นการปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งลดต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ในขณะนี้พบว่าต้นทุนพลังงานหมุนเวียนถูกลง ขณะนี้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีราคาสูงกว่า และเป็นการลดปัญหาค่าความพร้อมจ่าย (AP) ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นผลทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นตามกำลังสำรองไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งการลดแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป ลาว ตามแผนงานเดิมที่มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะรับซื้อ 15,000 เมกะวัตต์ ลดลง 700 เมกะวัตต์ เนื่องจากในปี 2571 ยังไม่มีโครงการใดสามารถที่จะเข้าระบบได้ตามเป้าหมาย
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2023/04/19/1156979/1681908334_290613-tnamcot.jpg)
สำหรับกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอไต่สวนการลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากเอกชน จำนวน 175 ราย รวม 4,852.26 เมกะวัตต์ โดยอ้างถึงปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศที่มากถึง 60% นั้น ทาง กกพ.ยังต้องรอการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ว่าจะพิจารณาออกมาอย่างไร
วานนี้ (18 เม.ย.66) ที่ศาลปกครองกลาง นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอไต่สวนฉุกเฉิน ในคดีหมายเลขดำที่ 1961/2565 เนื่องจากมีกรณีฉุกเฉิน จากที่ กกพ.กำหนดให้ กฟผ.ลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเอกชน จำนวน 175 ราย ปริมาณเสนอขายรวม 4,852.26 เมกะวัตต์ จากที่ กกพ.ประกาศเปิดรับซื้อ 5,203 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตมากถึง 51,048 เมกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศในปี 2565 มีเพียง 30,135 เมกกะวัตต์เท่านั้น อันทำให้มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าสำรองล้นประเทศ หรือมากเกือบ 60% แต่ทว่า กพช.กลับมีมติให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปดำเนินการจัดซื้อไฟฟ้าจากเอกชนเพิ่ม ในโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (Fit) ปี 2565-2573 สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน, พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS), สำหรับพลังงานลม, สำหรับก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าล้นประเทศมากถึง 53,659 เมกกะวัตต์ หรือมีกำลังไฟฟ้าสำรองมากกว่า 62% ซึ่งมาตรฐานสากลกำหนดไว้เพียงประมาณ 15-20% เท่านั้น การที่มีพลังงานไฟฟ้าสำรองมากกว่า 53,659 เมกะวัตต์ หรือกว่า 62% จะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของค่าเอฟที (Ft) สมาคมฯ จึงมาร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการลงนามซื้อไฟฟ้า. – สำนักข่าวไทย