24 ม.ค. – กกพ. ร่วมกับ 3 การไฟฟ้า เปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียว UGT1 ครั้งแรกในไทย 4.12 บาทต่อหน่วย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน-ดึงการลงทุน แบงก์-อุตสาหกรรมฯ-ห้างสรรพสินค้าแห่จอง เพื่อชดเชยคาร์บอน เริ่มใช้ภายใน เม.ย.นี้ ยืนยันไม่ทำให้ค่าไฟบ้านแพงขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) พร้อมด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดให้บริการอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff แบบที่ 1: UGT1) ครั้งแรกในไทย เพื่อเพิ่มทางเลือกในการรับบริการไฟฟ้าสะอาด รองรับความต้องการไฟฟ้าสีเขียวของผู้ประกอบการภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม และสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยได้กำหนดอัตรา UGT1 เป็นส่วนเพิ่มจากค่าไฟฟ้าตามปกติหน่วยละประมาณ 6 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเท่ากับว่า UGT1 มีอัตรา 4.12 บาทต่อหน่วย
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฟผ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟน., กฟภ.) จัดเตรียม UGT1 ไว้ประมาณ 2,000 ล้านหน่วยต่อปี พร้อมทั้งเตรียมการออกเอกสารรับรองไฟฟ้าสะอาดและแหล่งที่มาภายใต้มาตรฐาน I-REC ซึ่งเป็นใบรับรองที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดมาตรฐานหนึ่งในระดับสากล โดยได้เริ่มเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2568 และมีผู้ติดต่อลงทะเบียนเพื่อสมัครใช้บริการแล้วประมาณ 600 ล้านหน่วย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจการค้าระหว่างประเทศที่นำไปใช้ในการจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ตามนโยบายของบริษัทแม่หรือบริษัทคู่ค้า บริษัทจดทะเบียนชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการการรับรองไฟฟ้าสีเขียวเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนพลังงานสะอาดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่น ธุรกิจการเงินการธนาคาร อุตสาหกรรมการผลิต เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเคมีภัณฑ์ และกลุ่มปิโตรเคมี รวมถึงห้างสรรพสินค้า โดยจะสามารถเริ่มได้ภายในเดือนเมษายน 2568
มั่นใจว่าปริมาณไฟฟ้าสีเขียวจะมีปริมาณเพียงพอในการรองรับความต้องการไฟฟ้าสีเขียวรูปแบบนี้ของภาคเอกชนในช่วงแรกได้ทั้งหมด โดยในช่วงต่อไปจะเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าเจาะจงแหล่งที่มา (UGT2) ประมาณกลางปี 2568 และ Direct PPA เพิ่มเติมตามลำดับ โดยที่ผู้ประสงค์ขอใช้บริการอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว UGT1 ต้องไม่มีประวัติค้างชำระกับการไฟฟ้าฯ และไม่มีคดีความเกี่ยวกับการละเมิดใช้ไฟฟ้า ณ วันที่สมัครใช้บริการ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อขอรับบริการได้ โดยผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ กฟภ. ผ่านแพลตฟอร์ม ugt.pea.co.th ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ กฟน. ที่เว็บไซต์ www.mea.or.th หรือแพลตฟอร์ม (https://eservice.mea.or.th/ugt/) ลูกค้าตรง กฟผ. ที่เว็บไซต์ www.egat.co.th จนถึงวันที่ 28 ก.พ.68 .-สำนักข่าวไทย