กรุงเทพฯ 9 ต.ค. – กรมชลประทานคาดน้ำเหนือจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น จากฝนที่ตกระหว่างวันที่ 8-11 ต.ค. จึงเพิ่มการรับน้ำเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่ง แต่ยังจำเป็นเพิ่มปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเป็น 1,500-1,800 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายเขื่อนสูงขึ้น 20-80 เซนติเมตร สทนช. เตือน 26 จังหวัด 4 ลุ่มน้ำ เฝ้าระวังน้ำท่วม-น้ำหลาก และน้ำล้นตลิ่งระหว่าง 9-15 ต.ค.นี้
กรมชลประทานแจ้งว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงที่ผ่านมาร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้มีน้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 8 – 11 ตุลาคม 2566 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้น้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ในช่วงวันที่ 9 – 15 ตุลาคม 2566 โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ ซึ่งเขื่อนเจ้าพระยาต้องการระบายน้ำในอัตรามากกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที
กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,800 – 1,900 ลบ.ม./วินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาที่จะไหลมาสมทบประมาณ 200 – 300 ลบ.ม./วินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณระหว่าง 2,000 – 2,200 ลบ.ม./วินาที
ทั้งนี้ได้บริหารจัดการโดยรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 350 – 400 ลบ.ม./วินาที แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500 – 1,800 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีก 20 – 80 เซนติเมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,800 ลบ.ม./วินาทีจะแจ้งให้ทราบต่อไป
การปรับเพิ่มการระบายน้ำดังกล่าว กรมชลประทาน ได้จัดทำหนังสือแจ้งเตือน 11 จังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร พร้อมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศ เรื่อง เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง เนื่องจากจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และ ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 8 – 11 ตุลาคม 2566
ทั้งนี้ สทนช. ได้วิเคราะห์คาดการณ์จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ โดยมี พื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังเฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่มรวม 26 จังหวัดในช่วงวันที่ 9 – 15 ตุลาคม 2566 ดังนี้
1. ภาคเหนือ 10 จังหวัดได้แก่
– จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอฝาง อมก๋อย และจอมทอง)
– จังหวัดกำแพงเพชร (อำเภอคลองลาน คลองขลุง และปางศิลาทอง)
– จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอตรอน)
– จังหวัดตาก (อำเภออุ้มผาง แม่สอด แม่ระมาด พบพระ วังเจ้า และบ้านตาก)
– จังหวัดพะเยา (อำเภอเมืองพะเยา)
– จังหวัดแพร่ (อำเภอวังชิ้น)
– จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย)
– จังหวัดนครสวรรค์ (อำเภอแม่วงก์)
– จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่ และลานสัก)
– จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ หนองไผ่ และน้ำหนาว)
1.2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัดได้แก่
– จังหวัดขอนแก่น (อำเภอโคกโพธิ์ไชย และโนนศิลา)
– จังหวัดนครราชสีมา (อำเภอเมืองนครราชสีมา โนนไทย โนนสูง เฉลิมพระเกียรติ จักราช พิมาย ลำทะเมนชัย ชุมพวง และเมืองยาง)
– จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอเมืองชัยภูมิ คอนสาร และเกษตรสมบูรณ์)
– จังหวัดมุกดาหาร (อำเภอคำชะอี และเมืองมุกดาหาร) จังหวัดอุดรธานี (อำเภอเมืองอุดรธานี)
– จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี และวารินชำราบ)
1.3 ภาคกลาง 3 จังหวัดได้แก่
– จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ และศรีสวัสดิ์)
– จังหวัดชัยนาท (อำเภอเมืองชัยนาท เนินขาม และหันคา)
– จังหวัดสุพรรณบุรี (อำเภอเดิมบางนางบวช หนองหญ้าไซ สามชุก และดอนเจดีย์)
1.4 ภาคตะวันออก 5 จังหวัดได้แก่
– จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอเมืองปราจีนบุรี ประจันตคาม ศรีมหาโพธิ นาดีและกบินทร์บุรี)
– จังหวัดสระแก้ว (อำเภอเมืองสระแก้ว)
– จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี แก่งหางแมว ขลุง มะขาม และท่าใหม่)
– จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด บ่อไร่ เขาสมิง และแหลมงอบ)
– จังหวัดระยอง (อำเภอปลวกแดง)
1.5 ภาคใต้ 3 จังหวัดได้แก่
– จังหวัดนราธิวาส (อำเภอสุไหงปาดี และสุคิริน)
– จังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรี)
– จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์)
สำหรับพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ดังนี้
- แม่น้ำมูล ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ และพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
– แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ได้รับผลกระทบคือ บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ วัดไชโย คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง อำเภอพรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี และอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
– แม่น้ำท่าจีนได้แก่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี และสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอบางเลนและนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
– แม่น้ำปราจีนบุรีได้แก่ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
สทนช. กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับสถานการณ์ ดังนี้
1. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ
รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
2. วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปรับแผนการระบายน้ำ
ของอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และระบบชลประทานเพื่อเป็นการหน่วงน้ำที่ไหลลงมาสมทบแม่น้ำสายหลักให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งจัดการจราจรทางน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณแม่น้ำมูล และแม่น้ำเจ้าพระยา
3. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการขนของขึ้นสู่บริเวณที่สูงหรืออพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์.-สำนักข่าวไทย