กรุงเทพฯ 8 ส.ค. – กรมเจ้าท่า เผยความคืบหน้าการยกระดับการปฏิบัติตามพันธกรณีตามอนุสัญญาระหว่างประเทศขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) พร้อมเดินหน้าเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา IMO จนครบ 59 ฉบับ เพื่อยกระดับมาตรฐานของเรือ ท่าเรือ และคนประจำเรือ ให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล
นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย เปิดเผยความคืบหน้าในการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติตามพันธกรณีตามอนุสัญญาระหว่างประเทศขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ทั้ง 14 ฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญา IMO 6 ฉบับ ซึ่งเป็นอนุสัญญาหลักของ IMO ดังนี้ 1. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for Safety of Life Sea, 1974 as amended : SOLAS 1974) 2. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรม การออกประกาศนียบัตรและการเข้ายามของคนประจำเรือ ค.ศ. 1978 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention on Standard of Training, Certification and Watchkeeping for Seafarers, 1978 as amended : STCW 1978) 3. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ 1973 ที่แก้ไขปรับปรุงโดยพิธีสาร ค.ศ. 1978 (International Convention for the Prevention of Pollution from Ships, 1973 as modified by the Protocol of 1978 : MARPOL 73/78) ภาคผนวกที่ 1 และ 2 4. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยแนวน้ำบรรทุก ค.ศ. 1966 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention on Load Lines, 1966 as amended : LOADLINES 1966) 5. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการวัดขนาดตันของเรือ ค.ศ. 1969 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention on Tonnage Measurement of Ships, 1969 : TONNAGE 1969) และ 6. อนุสัญญาว่าด้วยกฎข้อบังคับระหว่างประเทศสำหรับการป้องกันเรือโดนกัน ค.ศ. 1972 (Convention on the International Regulations for Preventing Collisions at Sea, 1972 : COLREGs 1972) ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานทางทะเลของเรือไทย การปฏิบัติงานในฐานะรัฐชายฝั่ง และมาตรฐานคนประจำเรือ ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยหลังจากนี้ เชื่อมั่นว่าไทยจะสามารถเดินหน้าเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่างๆ ของ IMO จนครบ 59 ฉบับ
“สำหรับอนุสัญญาที่จะมีการเข้าเป็นภาคีเพิ่มเติมหลังจากนี้ ครอบคลุมเกี่ยวกับมาตรฐานการกำจัดมลพิษจากน้ำมัน มลพิษจากของเหลวปนเปื้อนในระวาง การควบคุมบรรจุหีบห่อ การกำจัดขยะจากเรือและแท่น มลพิษทางอากาศจากเรือ โดยประเทศไทยจะมีการออกกฎหมาย รวมถึงระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อรองรับพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาเหล่านี้” รองอธิบดีกรมเจ้าท่าฯ กล่าว
นอกจากนี้ ในปี 2565 กรมเจ้าท่าได้วางแผนการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการกองเรือ (เรือที่ชักธงไทย) และท่าเรือ ที่นำเอามาตรฐานอนุสัญญาฯ มาปฏิบัติ เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบขนส่งทางน้ำที่ให้ความสำคัญในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลก โดยคำนึงถึงความปลอดภัย การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ของภาคการเดินเรือมากขึ้น มุ่งสู่เป้าหมายที่ส่งเสริมให้เกิดเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย. – สำนักข่าวไทย