กรุงเทพ 11 ก.ย.- “มนพร” เร่ง “เจ้าท่า” เดินหน้าแผนปรับโฉมท่าเรือโดยสารอัจฉริยะในแม่น้ำเจ้าพระยา 29 แห่ง วงเงินกว่า 1,214 ล้านบาท เตรียมของบฯ ปี 68-69 ปรับปรุงอีก 15 ท่า ให้เสร็จครบทั้งหมด เสริมแกร่งคมนาคมขนส่งทางน้ำ พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ส่งเสริมท่องเที่ยวทางน้ำ สร้างความสะดวก ปลอดภัย ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาท่าเทียบเรือทั่วประเทศ อีกทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว และรองรับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ตนจึงได้เร่งรัดให้กรมเจ้าท่า ดำเนินการพัฒนาท่าเรือเป็นสถานีเรือโดยสารอัจฉริยะ (Smart Pier) จำนวน 29 ท่า งบประมาณ 1,214.05 ล้านบาท เพื่อยกมาตรฐานและความปลอดภัยท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือให้บริการแบบ Smart Pier สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นโดยการให้บริการด้วยระบบตั๋วร่วม การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ใช้บริการ พร้อมทั้งออกแบบรองรับผู้ใช้บริการทุกประเภท คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนส่งเสริมท่าเรือให้มีมาตรฐาน ประชาชนเดินทางสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำในพื้นที่
นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ความคืบหน้าแผนการพัฒนาท่าเรือเป็นสถานีเรือ Smart Pier จำนวน 29 ท่า งบประมาณ 1,214.05 ล้านบาท ปัจจุบันได้ก่อสร้างท่าเรือเสร็จแล้วจำนวน 9 ท่า งบประมาณ 89.981 ล้านบาท ได้แก่ ท่ากรมเจ้าท่า, ท่าสะพานพุทธ, ท่านนทบุรี, ท่าช้าง, ท่าสาทร, ท่าราชินี, ท่าพายัพ, ท่าบางโพ และท่าเตียน อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 5 ท่า งบประมาณ 189.017 ล้านบาท ได้แก่ ท่าเกียกกาย, ท่าพระราม 7, ท่าพระราม 5, ท่าปิ่นเกล้า และท่าปากเกร็ด คาดทยอยเสร็จในปี 2567-2568
ทั้งนี้ ได้ขอรับจัดสรรงบประมาณในปี 2568 จำนวน 84.6 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้าง 2 ท่า ได้แก่ ท่าโอเรียลเต็ล และท่าเทเวศร์ ขณะเดียวกันในปีงบประมาณ 2569 มีแผนจะดำเนินการก่อสร้าง 13 ท่า งบประมาณ 265.7 ล้านบาท ได้แก่ ท่าราชวงศ์, ท่าสะพานกรุงธน (ซังฮี้), ท่าเขียวไข่กา, ท่าพิบูลย์สงคราม 1, ท่าพิบูลย์สงคราม 2, ท่าวัดตึก, ท่าวัดเขมา, ท่าวัดสร้อยทอง, ท่าวัดเทพากร, ท่าวัดเทพนารี, ท่ารถไฟ, ท่าสี่พระยา และ ท่าพรานนก
นอกจากนี้จะของบประมาณในปี 2569-2570 จำนวน 584.752 ล้านบาท เพื่อดำเนินการปรับปรุงศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ กรมเจ้าท่า และ การติดตั้งอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยบริเวณท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับการพัฒนาท่าเรือเป็นสถานีเรือโดยสารอัจฉริยะ (Smart Pier) จะเป็นการปรับปรุงท่าเรือเดิมจากการใช้งานมาเป็นเวลานานและทรุดโทรม ทำให้เป็นท่าเรือใหม่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ปลอดภัย และทันสมัยต่อผู้ใช้บริการ รวมทั้งการนำงานออกแบบสถาปัตยกรรมมาใช้ตกแต่งท่าเรือให้เกิดความสวยงามอีกด้วย.-513-สำนักข่าวไทย