7 ก.ย.- “กรมเจ้าท่า” ลุยปรับโฉมท่าเรือเกาะล้าน จ.ชลบุรี วงเงิน 285 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างภายในปี 67 คาดแล้วเสร็จปี 69 ยกระดับมาตรฐานคมนาคมขนส่งทางน้ำ หนุนเศรษฐกิจท่องเที่ยวเมืองพัทยายั่งยืน
นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าได้ดำเนินโครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือเกาะล้าน (ท่าเรือหน้าบ้าน) เมืองพัทยา จ.ชลบุรี งบประมาณ 285 ล้านบาท (เป็นงบผูกพัน 3 ปี ปี 2567 – 2569) ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2567 แล้วเสร็จในปี 2569 ระยะเวลาดำเนินงาน 900 วัน
สำหรับโครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือเกาะล้าน ประกอบด้วย งานรื้อถอนเท่าเทียบเรือเดิม ก่อสร้างท่าเทียบเรือชั่วคราว ก่อสร้างท่าเทียบเรือคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดความกว้าง 19.4 เมตร ความยาว 64 เมตร ก่อสร้างสะพานทางเชื่อมท่าเทียบเรือ อาคารที่พักผู้โดยสาร หลังคาทางเดิมเชื่อมท่าเรือ ก่อสร้างโป๊ะคอนกรีต 2 ชุด และ ก่อสร้างสะพานปรับระดับ (Gangway) จำนวน 2 ชุด
เกาะล้านเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของพื้นที่พิเศษเมืองพัทยา มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมเยือนเกาะล้านประมาณ 5 – 6 ล้านคนต่อปี และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเดินทางมาเกาะล้านต้องมาทางน้ำเท่านั้น โดยเดินทางจากท่าเรือแหลมบาลีฮาย ฝั่งเมืองพัทยา มายังท่าเรือหลักคือท่าเรือหน้าบ้าน ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะล้าน เป็นท่าเรือแห่งแรกที่ประชาชนและท้องถิ่นร่วมกันสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2511 เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเกาะกับฝั่ง ท่าเรือกว้างเพียง 7 เมตร รองรับทั้งเรือขนส่งสินค้าและเรือโดยสาร จึงคับแคบ และไม่มีราวกันตกจึงไม่ปลอดภัย
ปัจจุบันท่าเรือมีความชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก แต่ยังมีการใช้งานที่คับคั่งและแออัด ไม่สะดวกปลอดภัยต่อประชาชน นักท่องเที่ยวและการขนส่ง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์กรมหาชน) หรือ อพท. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจออกแบบ เพื่อปรับปรุงท่าเรือหน้าบ้านแล้วเสร็จในปี 2558 จากนั้นได้ส่งผลการสำรวจออกแบบให้กรมเจ้าท่า เพื่อจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมเจ้าท่าได้รับความเห็นชอบรายงาน EIA ในช่วงปลายปี 2565 จากนั้นจึงขอรับจัดสรรงบประมาณในปี 2567 เพื่อดำเนินการก่อสร้างท่าเรือดังกล่าว
ทั้งนี้เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้ท่าเรือเกาะล้านมีมาตรฐาน ประชาชนและผู้ใช้บริการท่าเรือมีความสะดวก ปลอดภัย ทั่วถึงและเท่าเทียม ส่งเสริมเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ระบบการคมนาคมขนส่งทางน้ำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รองรับปริมาณการเดินทางมายังเกาะล้านเพิ่มในอนาคต และ ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป. 114 .-สำนักข่าวไทย