กรมอนามัย 28 มี.ค.-กรมอนามัย แนะผู้นิยมออกกำลังกายในฟิตเนส ควรเลือกเครื่องออกกำลังกาย ให้เหมาะสมกับร่างกาย ประเมินความพร้อมก่อนออกอย่างถูกวิธี ไม่หักโหมจนเกินไปมีผู้ควบคุมอย่างใกล้ชิด
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวสังคมออนไลน์ที่เผยแพร่คลิปวีดีโอของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ที่ชื่อ Syed FA Ahmad เทรนเนอร์ ชาวอินเดีย ฝึกท่าออกกำลังกาย โดยใช้เครื่องบริหารกล้ามเนื้อ แต่เกิดการผิดพลาดทำให้หัวเข่าเกิดล็อคผิดท่า ขารับน้ำหนักไม่ไหว ทำให้แผ่นเหล็กใหญ่ น้ำหนักรวมกว่า 900 ปอนด์ หล่นทับจนได้รับบาดเจ็บ กระดูกขาหักนั้น ผู้ที่นิยมออกกำลังกายตามฟิตเนสจึงควรประเมิน ความพร้อมของร่างกายทุกครั้ง และไม่หักโหมจนเกินไป ซึ่งการออกกำลังกายในฟิตเนสแต่ละครั้ง ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของเทรนเนอร์ที่มีความรู้ในเรื่องการใช้เครื่องออกกำลังกาย และสามารถแนะนำการใช้เครื่องออกกำลังกายให้เหมาะสมกับร่างกายของผู้มาใช้บริการ
ทั้งนี้ สถานบริการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ หรือฟิตเนสเซ็นเตอร์ และสวนสาธารณะเพื่อการออกกำลังกาย
เกณฑ์มาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ประกอบด้วย
1) มาตรฐานด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม เช่น อาคารและคุณลักษณะภายในมีความมั่นคง แข็งแรง เป็นไปตามกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมอาคาร
2)มาตรฐานด้านอุปกรณ์ออกกำลังกาย เช่น มีระบบและรายงานการตรวจเช็คอุปกรณ์ ออกกำลังกายให้มีความแข็งแรง ทนทาน สะอาด และพร้อมใช้งานทุกวัน
3)มาตรฐานการให้บริการ เช่น จัดทำป้ายคำแนะนำ/คำเตือน ในการออกกำลังกาย โดยติดไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน
4)มาตรฐานด้านบุคลากร ผู้ให้บริการ เช่น บุคลากร ผู้ให้บริการออกกำลังกายต้องมีคุณสมบัติจบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์การกีฬา หรือพลศึกษา และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย (Instructor Exercise) ที่จัดโดยกรมอนามัย หรือหลักสูตรที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมอนามัยและสถาบันการศึกษา
และ 5) มาตรฐานด้านความปลอดภัยและมาตรการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินส่วนมาตรฐานสวนสาธารณะเพื่อการออกกำลังกาย ประกอบด้วย 1) มาตรฐานด้านบริหารจัดการ 2) มาตรฐานด้านการตอบสนองผู้ใช้บริการและ3) มาตรฐานด้านกายภาพ .-สำนักข่าวไทย