กรุงเทพฯ 10 พ.ย. – นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ในช่วง 5-10 ปีนับจากนี้ไป กสอ.มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจปีละประมาณ 270,000 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 10 โดยจำนวนนี้แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 160,000 ล้านบาท และส่งออก 110,000 ล้านบาท
นายพสุ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย หากพิจารณาจากขนาดเชิงเศรษฐกิจแล้วจัดว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 17 ของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางโลก และขณะนี้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง กสอ.จะส่งเสริมสนับสนุนให้ก้าวขึ้นติดอันดับ TOP 10 ของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางโลกหรือก้าวสู่การเป็น “ปารีสแห่งเอเชีย” จากปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งและเป็นผู้นำในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว และในเอเชียอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยอยู่ในอันดับ 3 รองจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เท่านั้น
สำหรับตลาดส่งออกเครื่องสำอางในอาเซียนปัจจุบันเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยจำนวนประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้นถึง 300 ล้านคน จากตัวเลขโครงสร้างตลาดของสถาบันวิจัยและสำรวจภาวะธุรกิจของญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องสำอางในอาเซียนกว่าร้อยละ 30 ผู้ส่งออกที่มีส่วนแบ่งตลาดส่งออกเครื่องสำอางรองลงมา คือ อินโดนีเซียสัดส่วนร้อยละ 28 และฟิลิปปินส์มีส่วนแบ่งตลาดส่งออกเครื่องสำอางในอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 20 คาดว่าปีนี้ตลาดส่งออกเครื่องสำอางในอาเซียนของไทยจะเติบโตกว่าร้อยละ 15
นายพสุ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยถือเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินธุรกิจแบบเครือข่าย เห็นได้จากทิศทางการเติบโตที่มีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อ และยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมั่นและอุปสงค์จากทั้งในและต่างประเทศในอัตราสูง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความก้าวหน้าในการสร้างความร่วมมือของภาคธุรกิจกับสถาบันวิจัยและภาครัฐ พร้อมทั้งการมีกลยุทธ์การปรับตัวในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพ
นายสมประสงค์ พยัคฆพันธ์ ประธานคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย กล่าวว่า ไทยมีความได้เปรียบในเรื่องความหลากหลายของสมุนไพรไทยและอัตลักษณ์แต่ละพื้นที่ที่สามารถนำมาต่อยอดในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้ เพื่อให้ไทยก้าวสู่ TOP 10 ของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางโลก วิธีคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรมจะต้องแตกต่างจากรูปแบบทั่วไปต้องคิดนอกกรอบพร้อมใช้ความได้เปรียบของประเทศไทย ในเรื่องอัตลักษณ์ไทยแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด. -สำนักข่าวไทย