กรุงเทพฯ 21 พ.ค.-ไทยใช้เวทีประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเปค ที่มีชาติอภิมหาอำนาจ จีน-รัสเซีย-อเมริกา ร่วมมือกันส่งเสริมการค้าในระบบพหุภาคีและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเติบโตในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเดินหน้าไปสู่ความร่วมมือเป็น FTAAP ในอนาคตข้างหน้า
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค(Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) ที่ห้อง World Ballroom ชั้น 23 โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยประเทศไทยขอต้อนรับรัฐมนตรีการค้าเอเปค ผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค และผู้เข้าร่วมประชุมเข้าสู่การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2022 ซึ่งประเทศไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมขึ้นในรูปแบบกายภาพอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เอเปคมีความจำเป็นต้องจัดการประชุมผ่านระบบออนไลน์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีได้ร่วมหารือ เพื่อกำหนดแนวทางขับเคลื่อน การดำเนินการเอเปคให้มีความคืบหน้าต่อไป โดยเฉพาะวาระการดำเนินการสำคัญ คือ FTAAP รวมทั้งการส่งเสริมการค้าในระบบพหุภาคีและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเติบโตในสถานการณ์ โควิด-19 และอนาคต ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้กำหนดธีมหลักในการประชุมเอเปคในปีนี้ คือ “Open. Connect. Balance”
OPEN คือการเปิดขว้างไปสู่ทุกโอกาสด้านการค้าการลงทุน และการส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP ผ่านมุมมองใหม่ที่เรียนรู้จากสถานการณ์ โควิด-19 เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้ทุกภาคส่วนในสังคม ส่วน CONNECT คือการเชื่อมโยงในทุกมิติโดยเฉพาะการฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย รวมทั้งความเชื่อมโยงทางดิจิทัลและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค และสุดท้าย BALANCE คือการสร้างสมดุลของการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างรอบด้าน ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยประเด็นสำคัญคือการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสร้างความมั่นคงทางอาหาร การเกษตร เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ทั้งนี้ประเทศไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวหรือที่เรียก BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) มาเป็นแนวทาง หรือแนวคิดหลักในการขับเคลื่อน SMEs และ Micro SMEs ของทุกเขตเศรษฐกิจ ทั้ง 21 เขต
ทั้งนี้ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพถือว่าประเด็นนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญ โดยได้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเอเปคในภาพรวมจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับปานกลาง GDP ของเอเปค ขยายตัวร้อยละ 5.9 ในปี 2564 และจะขยายตัวต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 4.2 ในปี 2022 และน่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 ในปี 2023 นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาเอเปคยังได้มีการรับรองวิสัยทัศน์ปุตราจายา ปี 2040 และแผน “เอาทีอารอ” ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์และแนวทางการดำเนินให้กับเอเปค เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ผ่านการสนับสนุนระบบการค้าแบบพหุภาคีและการพัฒนาการค้าดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ การส่งเสริมและฟื้นฟูเศรษฐกิจการสร้างความเชื่อมโยงในทุกมิติ ทั้งคนสินค้าและบริการรวมทั้งระบบการขนส่งการเดินทางของประชาชนและกฎระเบียบ การส่งเสริมให้วิสาหกิจเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานโลก และการตอบสนองวิกฤตในอนาคตได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะนำไปสู่การเติบโตที่ครอบคลุมทั่วถึงและยั่งยืนของภูมิภาคเอเปคต่อไป
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลของการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคในปีนี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยกำหนดทิศทางเชิงนโยบายในการฟื้นฟูและกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในด้านต่างๆภายหลังยุคโควิด-19 และเตรียมรับมือกับวิกฤติที่คล้ายคลึงกันในอนาคตได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ขอให้ทุกท่านใช้โอกาสของการประชุมครั้งนี้ขับเคลื่อนการดำเนินการของเอเปคให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.-สำนักข่าวไทย