กรุงเทพฯ 22 มี.ค. – กรมชลประทานลดระบายน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังเกษตรกรส่วนใหญ่เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวรอบ 2 ย้ำนารอบ 3 ไม่มีน้ำสนับสนุน
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทั้งประเทศ ว่า วันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมามีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 44,891 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น ร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมดและมีปริมาณน้ำใช้การได้ 21,071 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 41 มากกว่าปี 2559 รวม 7,740 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานวางแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (1 พ.ย. 59 – 30 เม.ย. 60) รวมทั้งสิ้น 5,950 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 5,283 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 89 ของแผนฯ ปัจจุบัน (21 มี.ค. 60) ทั้ง 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 5,841 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของปริมาณน้ำใช้การ ซึ่งกรมชลประทานคาดการณ์ว่าวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักจะอยู่ในเกณฑ์ไม่ต่ำกว่าแผนที่วางไว้
ทั้งนี้ การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมามีการทำนาปรังไปแล้ว 5.35 ล้านไร่ มากกว่าแผน 2.68 ล้านไร่ เห็นได้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกินแผนไปแล้วกว่า 2 เท่า ทำให้มีการดึงน้ำจากภาคการใช้น้ำอื่น ๆ ไปใช้ทำการเพาะปลูกมากขึ้น หากยังมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกจะกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดและอาจทำให้ผลผลิตเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำได้ ทั้งนี้ ในช่วงเดือนเดือนเมษายน 2560 ส่วนใหญ่เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวรอบ 2 แล้ว กรมชลประทานจะเริ่มลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก เพื่อเป็นการสำรองปริมาณน้ำไว้ในเขื่อนให้มากที่สุด สำหรับเป็นน้ำต้นทุนไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนและปีต่อไป จึงขอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาพักการทำนารอบ 3 เนื่องจากจะไม่มีน้ำสนับสนุน โดยขอให้อดใจรอไปทำนาปีพร้อมกันในช่วงต้นฤดูฝนหน้าที่จะถึงนี้และขอให้ทุกภาคส่วนรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้าด้วย.-สำนักข่าวไทย