กรุงเทพฯ 3 ต.ค. – สทนช.เผยหารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนนเรศวร ช่วยเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำของแม่น้ำยมเพื่อบรรเทาอุทกภัย ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ แม้มีน้ำมาก แต่ได้ลดการระบายเพื่อบรรเทาสถานการณ์น้ำชีล้นตลิ่ง
นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) พบว่า ฃที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายยังมีความเสี่ยงฝนตกหนักอีก 1 วัน จึงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงขอให้ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณริมแม่น้ำกกเตรียมความพร้อมรองรับความเสี่ยงน้ำล้นตลิ่งด้วย
สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำวัง น้ำที่เอ่อล้นก่อนหน้านี้ ทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วในเกือบทุกพื้นที่จึงได้เร่งระบายน้ำจากเขื่อนกิ่วลม-กิ่วคอหมา จังหวัดลำปางซึ่งมีปริมาณน้ำมากเพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างในการรองรับน้ำ หากมีฝนตกเพิ่ม
ส่วนของลุ่มน้ำยมปริมาณน้ำสูงสุดเคลื่อนตัวผ่านจังหวัดสุโขทัย แต่ทุ่งบางระกำ ซึ่งเป็นพื้นที่หน่วงน้ำได้รับน้ำเข้าไปจนความจุ จึงเห็นสมควรให้ปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนนเรศวร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำของแม่น้ำยม บรรเทาสถานการณ์น้ำยมที่ยังล้นตลิ่งบางพื้นที่ ตลอดจนรองรับน้ำที่ระบายออกจากทุ่งบางระกำต่อไป
สำหรับภาคกลาง ยังมีความจำเป็นที่ต้องพร่องน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อรองรับปริมาณน้ำจากแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมที่จะไหลลงสู่ตอนล่าง ปัจจุบันคงการระบายในอัตรา 1,899 ลบ.ม./วินาที ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ระดับน้ำท้ายเขื่อนทรงตัว โดยกรมชลประทานแจ้งต่อ สทนช. จะควบคุมการระบายไว้ไม่เกิน 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เนื่องจากมีน้ำไหลเข้าจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนเริ่มลดลงตามลำดับ
ทั้งนี้ ยืนยันว่าน้ำจากพื้นที่ตอนบนที่ไหลลงมาถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ไม่กระทบต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระดับน้ำที่สูงขึ้นมาจากอิทธิพลของภาวะน้ำทะเลหนุน แต่จะไม่สูงเกินกว่าปริมาณน้ำคาดการณ์ของกรมอุทก ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.5 เมตร และได้อุดแนวฟันหลอทั้งหมดแล้วเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำทะเลหนุน
ทางด้านลุ่มน้ำชี แม้เขื่อนอุบลรัตน์จะมีปริมาณน้ำจำนวนมาก แต่เนื่องจากคาดว่า ในช่วงนี้จะมีฝนตกน้อยลง จึงจะปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์เพื่อช่วยเหลือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งของลำน้ำชี ด้านลุ่มน้ำมูลได้เตรียมความพร้อมในจังหวัดอุบลราชธานี โดยก่อสร้างคันกั้นน้ำชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) เพิ่มศักยภาพในการรองรับน้ำได้จาก 2,300 ลบ.ม. ต่อวินาที เป็น 3,200 ลบ.ม. ต่อวินาที
ทั้งนี้ จากการประเมินสภาพอากาศเดือนตุลาคม 2567 พบว่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณฝนลดลง เนื่องจากร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคกลาง ก่อนจะขยับลงไปสู่พื้นที่ภาคใต้ในช่วงหลังวันที่ 15 ตุลาคมตามลำดับ สทนช. จะยังคงเฝ้าระวังฝนที่จะตกในพื้นที่ตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่าน ตลอดจนเฝ้าระวังความเสี่ยงจากพายุที่อาจเกิดขึ้นได้อีก 1 ลูกตามค่าเฉลี่ยของการพายุที่มีโอกาสเข้าสู่ประเทศไทยปีละ 1-2 ลูก โดยจะแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า พร้อมกันนี้ได้พิจารณาบริหารจัดการน้ำในเขื่อนที่มีน้ำมากโดยคำนึงถึงการป้องกันน้ำล้นเขื่อนส่งผลกระทบต่อประชาชน. -512-สำนักข่าวไทย