กรุงเทพฯ 28 ส.ค.- อธิบดีกรมชลประทานเผย ลดการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลงเนื่องจาก 2-3 วันที่ผ่านมามีฝนตกในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงชะลอน้ำแม่น้ำป่าสักที่จะไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ย้ำให้เตรียมพร้อมคลองระพีพัฒน์ไว้สำหรับผันน้ำเข้าเพื่อเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการเร่งระบายน้ำออกทะเล หากฝนตกลงมาเพิ่ม
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานติดตามความพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำในช่วงน้ำหลากตามข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เนื่องจากกอนช. คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 29 ส.ค. –2 ก.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก อ่าวไทย และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ดังนั้นจึงให้เร่งระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสักออกทะเลเพื่อรองรับน้ำจากฝนที่จะตกลงมาใหม่
สำหรับเขื่อนเจ้าพระยาคงการระบายในอัตรา 1,500 ลบ.ม. ต่อวินาที ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ซึ่งวานนี้ปรับเพิ่มการระบายจาก 400 ลบ.ม. ต่อวินาทีเป็น 500 ลบ.ม. ต่อวินาที แต่เช้านี้สำนักงานชลประทานที่ 10 ปรับลดเป็น 430 ลบ.ม. ต่อวินาทีเนื่องจาก 2-3 วันที่ผ่านมามีฝนตกในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑลจึงต้องชะลอน้ำแม่น้ำป่าสักที่จะไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อระบายน้ำจากฝนที่ตกลงในพื้นที่ออกทะเลไปก่อน
ทั้งนี้น้ำที่ระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะไหลมายังเขื่อนพระรามหกที่อ. ท่าเรือ จ. พระนครศรีอยุธยา แล้วบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดพนัญเชิง อ. พระนครศรีอยุธยา วันนี้น้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก 520.75 ลบ.ม. ต่อวินาทีซึ่งกำชับให้ควบคุมน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนพระรามหกไม่ให้เกิน 600 ลบ.ม. ต่อวินาทีเพื่อไม่ให้เขตเทศบาลพระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบ ขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนพระรามหก ยกเว้นบริเวณชุมชนวัดสะตือ อ.ท่าเรือเนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำติดริมแม่น้ำซึ่งแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบและอพยพขึ้นที่สูงเรียบร้อยแล้ว
นายประพิศย้ำให้เตรียมพร้อมการรับน้ำสู่คลองระพีพัฒน์เพิ่มผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ หากน้ำในแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยามีมีปริมาณเพิ่มขึ้น ปัจจุบันคลองระพีพัฒน์รับน้ำเข้าในอัตรา 53 ลบ.ม. ต่อวินาที โดยจะควบคุมปริมาณการรับน้ำเข้าไม่ให้เกินกว่า 150 ลบ.ม. ต่อวินาที น้ำในคลองระพีพัฒน์จะไหลต่อไปยังคลองระพีพัฒน์แยกตกผ่านประตูระบายน้ำพระศรีศิลป์ อีกเส้นทางคือ ไหลสู่คลองระพีพัฒน์แยกใต้ผ่านประตูระบายน้ำศรีเสาวภาค แล้วไหลต่อไปยังคลองพระองค์ไชยานุชิต ลงสู่คลองชายทะเล จากนั้นสูบน้ำออกสู่อ่าวไทย ดังนั้นจึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่เตรียมไว้สำหรับช่วยระบายน้ำออกทะเล.-สำนักข่าวไทย