ปี 2565 ใช้ชีวิตในโลกออนไลน์อย่างไรให้ปลอดภัย ในท่ามกลางการหลอกลวงและโจมตีที่แนบเนียน ฉับพลัน และรุนแรง ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับ ภัยไซเบอร์
🎯 ตรวจสอบกับ อาจารย์ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยไซเบอร์
🔎ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
📌 สรุป 📌
ปี 2565 ใช้ชีวิตในโลกออนไลน์อย่างไรให้ปลอดภัย ในท่ามกลางการหลอกลวง และ โจมตี ที่แนบเนียน เฉียบพลัน และรุนแรง ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท สอบถามกับ อาจารย์ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยไซเบอร์
ต่อไปนี้คือ 5 ข้อแนะนำ เตรียมพร้อมเผชิญภัยไซเบอร์ สำหรับบุคคล
1. ฉีดวัคซีนไซเบอร์
Up skill (เพิ่มทักษะ) ตัวเอง ให้ความรู้ตัวเอง เค้าเรียกว่า ฉีดวัคซีนไซเบอร์ให้ตัวเอง มันไม่เหมือนเราฉีดแอสตร้าเซเนก้า ไฟเซอร์ อะไรแบบนี้ แต่ว่าคำว่า ฉีดวัคซีนให้ตัวเอง นี่คือ เราจะลดช่องว่างระหว่าง ความไม่รู้ กับความรู้ ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราจะต้องขวนขวาย ก็เท่ากับ เราฉีดวัคซีนให้ตัวเองไปโดยปริยาย เข้ามาศึกษาหาความรู้ ดูยูทูป ดูชัวร์ก่อนแชร์ อ่านข่าวสารด้านไซเบอร์อะไรต่าง ๆ
2. ดูแลอุปกรณ์ทำงานจากที่บ้านให้ปลอดภัย
เครื่องที่บ้านเราเนี่ย มันไม่มีทางปลอดภัยเท่าเครื่องที่ออฟฟิศอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเครื่องโน้ตบุ๊คที่บ้าน ใช้วินโดว์อยู่ ก็ต้องปรับปรุงให้เป็นวินโดว์ รุ่นล่าสุด แล้วก็ลง patch (ตัวปรับปรุง) ล่าสุด มีการติดตั้งแอนตี้ไวรัสที่เครื่อง ไม่พยายามเข้าเว็บอโคจร หรืออะไรที่เขาส่งลิงก์มาหลอก ทำธุรกรรมอะไรต่าง ๆ บนเว็บ เท่าที่จำเป็น หาข้อมูลไม่เป็นไร แต่อย่าไปเซฟไฟล์ลงมา มาเปิด รันโปรแกรม อะไรอย่างงี้ พวกนี้มันก็จะเสี่ยงสำหรับคนที่จะต้อง Work from home
3. เตรียมพร้อมโดน Ransomware เรียกค่าไถ่
สักวันหนึ่ง เราอาจจะโดนแรนซัมแวร์มาแฮก ล็อกไฟล์เราหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรทำคือ ทำให้ข้อมูลเราเนี่ย มีสำรอง สำรองไว้ยังไง ? ก็สำรองไว้สูงสุด เท่าที่เรามองว่าเราจะยอมรับความเสี่ยงได้ ถ้าข้อมูลหายไม่ได้ ก็ต้องจัดการสำรองไว้ เช่น เรายอมรับให้หายได้ 1 วัน เราก็สำรองข้อมูลไว้ทุกคืน หลังเที่ยงคืน ถ้ายอมรับให้ข้อมูลหายได้เดือนหนึ่ง ก็ทำสำรองไว้เดือนละครั้ง เราสามารถจะแบ็กอัพลง Thumb Drive หรือ Solid state drive ใส่ลิ้นชักเก็บไว้ เกิดวันไหนโน้ตบุ๊คเรามีปัญหา โดนแรนซัมแวร์ โดนแฮกเกอร์มาเจาะ ข้อมูลหายเกลี้ยง ข้อมูลโดนเข้ารหัส เราก็ยังมีไฟล์ที่เราแบ็กอัพไว้อยู่ ข้อมูลมันจะมีค่าต่อเมื่อมันหายไปแล้ว ตอนที่มันอยู่ เปิดโน้ตบุ๊กมาเจอเลยเนี่ย เรารู้สึกมันอยู่กับเราตลอด แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีอะไรแน่นอน
4. จัดการแยกกระเป๋าเงินร้อน กระเป๋าเงินเย็น
อย่างเช่น เราไปเปิดบัญชีออมทรัพย์ไว้อันหนึ่ง เรามีวงเงินอยู่ สองพันบาท ก็คือ “บัญชีร้อน” ที่เราจะจับจ่ายใช้สอย ผูกบัตรเครดิต ไปรูด ไปเซฟ ไปเมมไว้ในเว็บ ต่าง ๆ สมมุติว่ามันโดน มันก็โดนแค่สองพันบาท มันจะแฮกเรามากกว่าเงินที่เราใส่ไว้ในบัญชีออมทรัพย์นั้นก็ไม่ได้ ในขณะเดียวกัน บัญชีออมทรัพย์ของเราที่มีเงินเดือน หรือที่มีเงินเยอะ ๆ เป็น “บัญชีเย็น” เราก็จะไม่เอาไปผูกกับบัตรอะไรเลย
5. ระวังการกรอกข้อมูลส่วนบุคคล
สูญเสียซึ่ง Privacy (ความเป็นส่วนตัว) ไปกรอกแบบฟอร์ม ไปใส่ข้อมูลอะไร แม้กระทั้งการบันทึกบัตรเครดิตไว้ในระบบของพ่อค้า ของเว็บไซต์ซื้อขายเนี่ย ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าพยายามไปให้ข้อมูลอะไรเยอะ ให้เท่าที่จำเป็น แล้วก็ ถ้าจะเซฟบัตรเครดิตไว้เนี่ย ไม่แนะนำ แต่ถ้าอยากจะเซฟ อาจจะไปเปิดบัญชีออมทรัพย์ ฝากเงินใส่ไว้ ห้าร้อย พันนึง ทำเป็นบัตรเดบิตออกมา แล้วเอาบัตรเดบิตนั้นไปเซฟไว้ เค้าหักเงินเรา เค้าหักเราได้เท่าที่เรามีเงินสดอยู่ในวงเงินของบัตร
อาจารย์ย้ำให้ตระหนักรักษา 2 สิ่งที่มีค่า
มันไม่มีอะไรเหมือนเดิมแล้ว มันจะยากกว่าเดิมเยอะ เพราะว่าโอกาสที่เราจะโดนแฮกเกอร์โจมตีมันสูงมาก แทบทุกลมหายใจ แฮกเกอร์จะเข้ามา เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีค่าของเราคืออะไร 2 อย่าง คือ
1. ข้อมูลเรา ต้องเซฟเก็บไว้เป็นชุดสำเนาใส่ลิ้นชักไว้เลย
2. ชื่อเสียงเรา เราไม่ควรจะไป โพสต์โซเชียลอะไรที่ไม่เหมาะสม หรือว่ามีข้อมูลในแชทอะไรเป็นความลับแล้ว สมมติเราโดนแฮก มันเห็นเราคุยกับใครหมด เห็นไฟล์ในเครื่องของเราหมด
👉 ชมคลิปที่มีเนื้อหาเต็มได้ที่ https://youtu.be/td5eR3UE5Yo
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter