กทม. 17 มี.ค.- ปคบ. ร่วม สารวัตรเกษตร ทลายโกดังขายปุ๋ยไม่ขึ้นทะเบียน มูลค่าความเสียหาย 2.5 ล้านบาท
ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ฯ รรท.รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.สมเกียรติ ตันติกนกพร รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผกก.2 บก.ปคบ. พ.ต.ท.กานต์กนิษฐ์ จงประเสริฐ รอง ผกก.2 บก.ปคบ. พ.ต.ท.ธีรภพ พันธุชาติ รอง ผกก.2 บก.ปคบ.
ด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีการเสนอขายปุ๋ยอินทรีย์ ชื่อการค้า “ต้าถง” ทางสื่อออนไลน์ โดยที่กระสอบระบุว่าเป็นวัสดุอินทรีย์ปรับปรุงดิน แต่มีการนำมูลสัตว์มาแปรสภาพโดยการอัดเป็นเม็ดบรรจุกระสอบจำหน่าย การโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น วิดีโอ เอกสารการโฆษณา ระบุว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 โดยมีสถานที่ผลิต ตั้งอยู่เลขที่ 188 ม.9 ต.วังไผ่ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี
ต่อมาวานนี้ (16 มี.ค.65) เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปคบ.พร้อมสารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตรร่วมกันเข้าตรวจสอบสถานที่ผลิตดังกล่าว เมื่อเดินทางมาถึง พบนายยุทธนา เดชมงคล (ทราบชื่อภายหลัง) อายุ 56 ปี ผู้ดูแล นำตรวจสอบ
ผลการตรวจสอบพบ 1.ผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยว่าปุ๋ยอินทรีย์ ตราต้าถง บรรจุกระสอบละ 50 กก. จำนวน 2,556 กระสอบ (127.8 ตัน) 2.วัตถุดิบ รวม 136 ตัน 3.อุปกรณ์การผลิต รวมจำนวน 10 รายการ มูลค่าประมาณ 2,500,000 บาท
เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบต้องสงสัยว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่ไม่ขึ้นทะเบียนไว้จึงได้ตรวจยึดอายัดไว้ในที่เกิดเหตุและจะได้ ร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปคบ. ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด มาตรา 30(5), 71 วรรคหนึ่ง, 72/4 วรรคสอง (โทษหนึ่งในสี่ ของโทษ 1 ปีถึง 5 ปีหรือปรับตั้งแต่สี่หมื่นถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) พ.ร.บ.ปุ๋ย 2518 แก้ไข 2550
เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรกรมวิชาการเกษตรได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ที่ขึ้นทะเบียนแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กองวิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตกรมวิชาการเกษตร เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
บก.ปคบ.ฝากเตือนเกษตรกรที่ซื้อปุ๋ยเคมีไม่ได้ขึ้นทะเบียนที่ไม่ได้ผ่านการตรวจคุณภาพจากกรมวิชาการเกษตร อาจทำให้ผลผลิตของเกษตรกรไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ควรจะได้ และเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร เนื่องจากได้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารไม่ครบถ้วน อาจจำเป็นจะต้องใส่ปุ๋ยในปริมาณที่เพิ่มขึ้น .-สำนักข่าวไทย