ทำเนียบรัฐบาล 7 มี.ค.-ศบค.ยังพบคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง ห่วงเด็กปิดเทอม ให้สังเกตอาการหลังไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เตรียมประชุม ศบค.ใหญ่ 18 มี.ค.นี้ กำหนดมาตรการสงกรานต์
พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ผู้ช้วยรองโฆษกศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า วันนี้(7 มี.ค.) ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการตรวจ RT-PCR 21,162 ราย ตรวจ ATK อีก 24,236 ราย รวม 45,398 ราย ถือว่าอยู่ในระดับทรงตัว จำนวนผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 102 ราย กำลังรักษา 230,459 ราย แยกรักษาที่บ้านและชุมชน 161,493 ราย ใน รพ. 68,996 ราย มีอาการหนัก 1,148 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 375 ราย นอกนั้นถือว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 67,818 ราย เป็น 98.3% ซึ่งสามารถแยกกักรักษาที่บ้านหรือชุมชนได้ ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลคัดกรองคนอาการน้อยรักษาที่บ้าน เพื่อสงวนเตียงให้คนอาการปานกลางถึงหนัก
พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ถือว่ามีจำนวนสูงขึ้น จากการมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยวันนี้เสียชีวิตสูงสุดในการระบาดระลอกนี้ 65 ราย ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 49 รายต่อวัน ส่วนติดเชื้อรายวันที่เป็นขาขึ้นนั้น เป็นแบบทรง ๆ ไม่ได้กระฉูดมาก นอกจากนี้ ยังมีจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังคือตามขอบแนวชายแดน คือ ตากและสระแก้ว ช่วง 2-3 วันมานี้ ตัวเลขติดเชื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงนี้มีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาตามขอบชายแดนมากขึ้น ขอความร่วมมือคนในพื้นที่เป็นหูเป็นตา ขอให้ช่วยกันแจ้ง นำมาคัดกรองไม่ให้แพร่ระบาดเพิ่มขึ้น
พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับกทม. พบคลัสเตอร์ใหม่ เป็นคลัสเตอร์ก่อสร้างเขตคลองสามวา 5 เขต พบติดเชื้อสูงสุดคือ หลักสี่ 470 ราย, บางซื่อ 187 ราย หนองแขม 67 ราย วัฒนา 44 ราย และดินแดง 38 ราย ส่วนสถานการณ์เตียงทั่วประเทศ ครองเตียงรวม 57.8% การระบาดของโอมิครอนเน้นรักษาอาการปานกลางถึงหนักหรือเตียงเหลืองและแดง โดยเตียงเหลืองระดับ 2.1 อยู่ที่ 25.1% เตียงเหลืองระดับ 2.2 อยู่ที่ 15.1% เตียงแดง 25%
พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิต 65 ราย เป็นยอดสูงสุดในระลอกนี้ อายุเฉลี่ย 75 ปี มากกว่า 50 ปีถึง 91% และผู้เสียชีวิต 97% เป็นสูงอายุและมีโรคเรื้อรัง อยู่ในภาคใต้มากสุด 17 ราย กลาง 15 ราย อีสาน 12 ราย ปริมณฑล 8 ราย กทม. 7 ราย และเหนือ 6 ราย พบว่า 65% ไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว 6% รับเข็มเดียว 18% รับ 2 เข็มเกิน 3 เดือน 3% รับเข็มสองไม่เกิน 3 เดือน และ 8% ได้ 3 เข็มไม่เกิน 2 สัปดาห์ โรคเรื้อรังของผู้เสียชีวิตที่พบบ่อย คือ มะเร็งระยะสุดท้าย โรคไตวายเรื้อรัง ภาวะติดเตียง และอ้วน อาจต้องไปศึกษาเพิ่มเติม เพราะพบในเสียชีวิตทุกวัน
“การวิเคราะห์จำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน 15 ก.พ.-4 มี.ค. การระบาดของโอมิครอนเทียบเดลตา จำนวนเสียชีวิตน้อยกว่า ปัจจัยลดเสียชีวิตคือการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ประเทศที่รับเข็มกระตุ้น 60% คือ อังกฤษ เยอรมนี และเกาหลีใต้ ทำให้การเสียชีวิตน้อย สอดคล้องกับข้อมูลของกรมควบคุมโรค คือ การรับวัคซีนเข็มกระตุ้นจะเสียชีวิตน้อยกว่าคนนับ 2 เข็ม 7 เท่า ลดการเสียชีวิต 41 เท่าเทียบกับคนไม่ได้รับวัคซีนเลย ซึ่งยังมีในไทย 2 ล้านกว่าราย” พญ.สุมนี กล่าว
พญ.สุมนี กล่าวว่า ช่วงหยุดยาวสงกรานต์ ขอความร่วมมือบ้านที่มีผู้สูงอายุ หรือป่วยเรื้อรังและเด็กเล็ก ให้มารับวัคซีนทุกเข็มให้มากขึ้น เพราะช่วงสงกรานต์มีกิจกรรมร่วมกันค่อนข้างมาก และเสี่ยงที่จะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งหยุดสงกรานต์มีหลายวันอย่างน้อย 5 วัน โดยวันนี้กรมอนามัยเสนอมาตรการป้องกันควบคุมโรคเทศกาลสงกรานต์ โดยประเด็นสำคัญคือ วันหยุดยาวต้องประเมินความเสี่ยงติดโควิดจากกิจกรรมใดบ้าง คือ เดินทางกลับภูมิลำเนา การรวมตัวญาติพี่ร้อง พบปะสังสรรค์ รับประทานอาหารร่วมกัน กิจกรรมร่วมกัน รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ สาดน้ำปะแป้ง กิจกรรมรื่นเริงต่าง ๆ
“สถานที่ต้องเฝ้าระวังคือ ขนส่งสาธารณะ สถานีขนส่งทั้งเครื่องบิน รถโดยสาร รถตู้ รถประจำทาง ปั๊มน้ำมันทุกจุด จุดพักรถ สถานที่เสี่ยงสำคัญคือบ้าน ร้านอาหาร ศาสนสถาน สถานที่ทำกิจกรรมร่วมกัน สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตีมอลล์ แต่ช่วงสงกรานต์ก็ไม่ได้งดจัดหรือห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ต้องอยู่ใต้มาตรการความปลอดภัย คือ VUCA ได้แก่ V วัคซีน คนเดินทางกลับต่างจังหวัดต้องรับให้ครบ หากรับ 2 เข็มเกิน 3 เดือนให้มารับเข็มสาม รวมถึงคนที่อยู่ในบ้านในพื้นที่ U ป้องกันตนเองส่วนบุคคลสูงสุดตลอดเวลา ทั้งเดินทาง ร่วมกิจกรรม C COVID Free Setting สถานที่จัดงานทำตามมาตรการ มีการคัดกรองประเมินความเสี่ยง และ A มีการสุ่มตรวจ ATK ทั้งก่อนเดินทางไปและหลังเดินทางเพื่อความปลอดภัยในการทำกิจกรรมช่วงสงกรานต์” พญ.สุมนี กล่าว
พญ.สุมนี กล่าวว่า ส่วนการพิจารณามาตรการช่วงสงกรานต์ มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง จะประชุมศบค.ชุดใหญ่ 18 มี.ค.นี้ โดยเรื่องมาตรการช่วงเทศกาลสงกรานต์จะพิจารณาจาก 6 หน่วยงาน คือกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงวัฒนธรรม
พญ.สุมนี กล่าวว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับกลุ่มเด็กที่เริ่มปิดเทอมมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงที่เด็กไปรวมตัวกันทำกิจกรรมต่าง ๆ สถานที่เสี่ยงหนึ่ง คือ การเล่นเกม และตู้เกม ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองต้องช่วยไปดูสถานที่ปิด มีความแออัดของเด็กไปเล่นเกมหรือไม่ เพราะจะเสี่ยงแพร่ระบาดของโรคง่ายขึ้น ประกอบกับเด็กเล็กยังไม่ฉีดวัคซีน มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโอกาสติดโรคมากขึ้น “เด็กเล็กมีรายงานติดโควิดทุกวัน พอไม่มีภูมิก็มีอาการมากกว่าผู้ใหญ่ เช่น ไข้สูง ทานอาหารไม่ได้ เพระาฉะนั้น บ้านไหนมีบุตรหลานอายุ 5-11 ปี ยังไม่ได้ฉีดวัควีน ช่วยกันพาเด็กไปฉีดวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ขอให้ ใช้มาตรการที่ว่าหลังเด็กไปทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ ให้พยายามสังเกตอาการทางเดินหายใจด้วย ว่ามีอาการไอ เจ็บคอ น้ำมูก คัดจมูก หรือมีไข้หรือไม่ ถ้ามีให้สงสัยว่าติดเชื้อหรือไม่ สุ่มตรวจด้วย ATK ทันที” พญ.สุมนี กล่าว.-สำนักข่าวไทย