ทำเนียบรัฐบาล 7 ก.พ.-ศบค.แนะถ้าเสี่ยงสูงให้กักตัว สังเกตอาการ ตรวจ ATK ตามกำหนดเวลา แนะจังหวัดต่างๆ นำแนวทางที่มหาสารคามสั่งงดกินข้าวร่วมทุกกิจกรรม จับตาประชุม ศบค.ใหญ่ 11 ก.พ.นี้ จะมีมาตรการเพิ่มหรือไม่
พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,470 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 10,300 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 10,255 ราย จากการค้นหาเชิงรุก 45 ราย จากเรือนจำ 4 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 166 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,507,471 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 8,711 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,392,384 ราย อยู่ระหว่างรักษา 92,784 ราย อาการหนัก 535 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 102 ราย
พญ.สุมนี กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 12 ราย เป็นชาย 3 ราย หญิง 9 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 9 ราย มีโรคเรื้อรัง 3 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,303 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 ก.พ. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 216,538 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 ทั้งสิ้น 117,094,785 โดส ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 395,882,670 ราย เสียชีวิตสะสม 5,758,593 ราย
“สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 7 ก.พ. ได้แก่ กทม. 1,391 ราย สมุทรปราการ 962 ราย ชลบุรี 545 ราย นนทบุรี 474 ราย ภูเก็ต 436 ราย นครปฐม 274 ราย ราชบุรี 265 ราย นครราชสีมา 263 ราย นครศรีธรรมราช 213 ราย ขอนแก่น 208 ราย ทั้งนี้ พบคลัสเตอร์สถานพยาบาลที่กทม. ขอนแก่น ปทุมธานี ชลบุรี สมุทรปราการ ลพบุรี สงขลา นนทบุรี ภูเก็ต สระบุรี มหาสารคาม ปัตตานี คลัสเตอร์โรงเรียนและสถานศึกษาที่ จ.สระแก้ว สุรินทร์ ยโสธร สุพรรณบุรี น่าน ราชบุรี มหาสารคาม ขอนแก่น ปราจีนบุรี อำนาจเจริญ มุกดาหาร” พญ.สุมนี กล่าว
พญ.สุมนี กล่าวว่า ขณะนี้จ.มหาสารคามออกประกาศขอความร่วมมือประชาชนงดกินข้าวร่วมกัน ระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งงานประชุม งานเสวนา พิธีกรรมศาสนา งานบวช งานศพ งานแต่ง และงานบุญต่าง ๆ รวมถึงสถานที่ทำงาน สถานที่ราชการ โดยคำสั่งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จังหวัดต่าง ๆ สามารถนำมาปรับใช้ป้องกันการระบาดจากการรับประอาหารร่วมกัน
“หากพบว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง คือ ไม่สวมหน้ากากอนามัยและใกล้ชิดผู้ติดเชื้อในวันที่ผู้ป่วยมีอาการหรือภายใน 3 วันก่อนมีอาการ อยู่ใกล้ พูดคุยกับผู้ติดเชื้อ ที่เข้าข่ายยืนยัน ในระยะ 2 เมตรนานกว่า 5 นาที หรือถูกไอ จาม รดจากผู้ป่วย อยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเทร่วมกับผู้ป่วยนานกว่า 30 นาที หากพบว่าตัวเองเข้าข่ายสัมผัสเสี่ยงสูงให้แยกตัวจากผู้อื่น สังเกตอาการมีปัญหาระบบทางเดินหายใจหรือไม่ เช่นไอ น้ำมูก ปวดเมื่อยครั่นเนื้อครั่นตัว หากมีอาการให้ตรวจ ATK กักตัวที่บ้าน 7 วัน ตรวจATK ซ้ำวันที่5,6 นับจากพบผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย และสังเกตอาการให้ครบ10 วัน และตรวจATK อีกครั้งในวันที่10 ถ้าผลลบสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ หาก ATK ผลเป็นบวกให้โทรไป1330 ลงทะเบียนกับสปสช. เพื่อรับบริการดูแลรักษาที่บ้าน เข้ากระบวนการ home isolation” พญ.สุมณี กล่าว
พญ.สุมณี กล่าวว่า วันที่11 ก.พ.นี้จะมีการประชุมศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีมาตราการใดเพิ่มเติมหรือไม่.-สำนักข่าวไทย