กสม. 17 ก.พ.- กสม.ห่วงเจ้าหน้าที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดำเนินคดีผู้ชุมนุมพร่ำเพรื่อ กระทบเสรีภาพประชาชน ชี้ต้องไม่ปิดกั้นเกินกว่าเหตุ
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ในการประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน พิจารณาเรื่องร้องเรียนของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และพวก ขอให้ตรวจสอบการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภายหลังผู้ร้องและพวกถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีอาญา ฐานชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการรวมตัวเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ณ สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ร้องและพวกใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ ตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และมาตรา 44 รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในการยื่นหนังสือร้องเรียนรัฐบาลที่กระทำการอันอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในวันดังกล่าว แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความดำเนินคดีอาญา อาจมีประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิในการชุมนุม จึงเห็นควรรับไว้เป็นคำร้อง เพื่อดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน
โดยในประเด็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นี้ กสม.เคยมีรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 พร้อมข้อเสนอแนะแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2564 ระบุว่า แม้ว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมในการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการจัดการและควบคุมการชุมนุมด้วยเหตุผล เพื่อเป็นการป้องกันภัยทางสาธารณสุข แต่เพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ จะต้องสอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุ จะต้องไม่ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้โดยสิ้นเชิง แม้จะเป็นช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคก็ตาม การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมการชุมนุมของรัฐบาลมีแนวโน้มเป็นการห้ามการชุมนุมแบบเหมารวม และห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาด ซึ่ง กสม.ได้มีข้อเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรีหลีกเลี่ยงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เป็นไปเพื่อป้องกันภัยร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคง และไม่อาจนำไปใช้ในการชุมนุมทางการเมืองทั่วไป
“กสม.มีความห่วงกังวลเป็นอย่างมากต่อการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดำเนินคดีประชาชน ซึ่งรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกถึงข้อเรียกร้องทางการเมืองและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในหลายกรณีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เมื่อปลายปี 2564 หรือการชุมนุมของกลุ่มพีมูฟ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งประชาชนหลายคนต้องถูกดำเนินคดีอาญา ข้อหาชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นกัน กสม.จึงขอเน้นย้ำให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนที่มิควรถูกปิดกั้นหรือถูกจำกัดอย่างเกินสมควรแก่เหตุ และไม่ได้สัดส่วนกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค” นายวสันต์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย