กรมควบคุมโรค 11 ม.ค.-กรมควบคุมโรค แจงเชื้อไวรัสโนโร ไม่ใช่เชื้อไวรัสชนิดใหม่และไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่ เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ พบมากในกลุ่มเด็ก แนะนำผู้ปกครองดูแลความสะอาด เน้นยึดการปฎิบัติ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีการส่งต่อข่าวกันในโซเซียลมีเดียว่า พบเด็กติดเชื้อไวรัสโนโรและมีอาการหนักในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง จากการตรวจสอบพบเด็กรายนี้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโนโรและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลดังกล่าวจริง แต่ในส่วนเชื้อไวรัสโนโร กรมควบคุมโรคขอชี้แจงว่าไวรัสโนโร (Norovirus) ไม่ใช่เชื้อไวรัสชนิดใหม่และไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่ โดยเชื้อนี้เป็นเชื้อดั้งเดิมที่รู้จักกันมานานกว่า 40 ปีแต่ไม่ค่อยถูกกล่าวถึงในประเทศไทย เนื่องจากในอดีตไม่ค่อยพบการระบาดในคนหมู่มากและการตรวจเชื้อเป็นไปด้วยความยุ่งยากจึงมักไม่ได้ทำการตรวจหาเชื้อก่อโรคอุจจาระร่วง แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการวินิจฉัยที่ก้าวหน้าขึ้นจึงตรวจพบเชื้อไวรัสโนโรได้มากขึ้น ซึ่งปกติเชื้อนี้ไม่ได้ทำให้เกิดอาการรุนแรงจนเกิดภาวะไตวายโดยตรงเหมือนกับเชื้ออื่นๆ เช่น เชื้ออีโคไล แต่เด็กอาจมีอาการไตวายได้หากดูแลหรือเข้ารับการรักษาไม่ทัน เช่น ขาดน้ำมากๆ เป็นต้น โดยเชื้อไวรัสโนโรนี้ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ หรืออาการท้องเสียได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มเด็กวัยเรียน
สำหรับโรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งมีเชื้อที่ทำให้เกิดโรคอยู่หลายชนิด เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต หรือการปนเปื้อนสารพิษต่างๆ เป็นต้น แต่สาเหตุของอาหารเป็นพิษที่พบได้บ่อยครั้งคือจากเชื้อแบคทีเรีย รองลงมาคือไวรัส นอกนั้นพบได้บ้างประปราย จากข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตลอดทั้งปี 2559 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 137,675 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากสุดคือ 15-24 ปี รองลงมาคือ 45-54 ปี ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือขอนแก่น อุบลราชธานี บุรีรัมย์ อํานาจเจริญ และปราจีนบุรี
นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า ไวรัสโนโรในประเทศไทยสามารถพบได้ตลอดปี แต่พบมากในช่วงปลายฝนต้นหนาวจนถึงฤดูหนาว ติดต่อจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อ หรือสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วย เชื้อไวรัสนี้มีความคงทนในสิ่งแวดล้อมมาก หากผู้ป่วยเข้าห้องน้ำแล้วไม่ได้ล้างมือหรือล้างไม่สะอาด แล้วไปจับลูกบิด ประตู หรือก๊อกน้ำ เชื้อโรคก็ยังอยู่ สำหรับสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อได้คือ ฟอร์มาลีน กลูตารอลดีไฮด์ และสารประกอบจำพวกคลอรีนที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป เป็นต้น ไวรัสโนโรนั้น มีระยะฟักตัวสั้น 12-48 ชั่วโมง และติดต่อได้ง่าย ถึงแม้มีเชื้อปริมาณน้อยก็ทำให้เกิดอาการได้ และมักมีอาการปรากฎอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่มักทำให้มีอาการอาเจียน อ่อนเพลีย ปวดท้อง ท้องเสีย และอาจมีไข้ต่ำๆ ได้ โดยอาการจะปรากฏประมาณ 2-3 วัน ส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง แต่ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการขาดน้ำ ต้องให้น้ำเกลือหรือนอนโรงพยาบาล
สำหรับอาหารที่มักก่อให้การติดเชื้อไวรัสโนโรได้บ่อย ได้แก่ น้ำ/น้ำแข็งที่ปนเปื้อนเชื้อและอาหารประเภทหอย ส่วนการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น ให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่(โอ อาร์ เอส)เพื่อป้องกันการขาดน้ำ อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น อาเจียนมาก ถ่ายบ่อย หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ขอให้รีบพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน โดยโรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกันโรค และไม่มียารักษาจำเพาะ จึงขอแนะนำให้ผู้ปกครองดูแลความสะอาด ใส่ใจสุขอนามัยของตนเองและบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เน้นการปฎิบัติ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” โดยเฉพาะการล้างมือ ขอให้ดูแลเด็กให้ล้างด้วยสบู่และน้ำบ่อยๆ และนานๆ เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 .-สำนักข่าวไทย