กรมควบคุมโรคร่วมรณรงค์วันหัวใจโลก 2566 ย้ำป้องกันได้

สธ. 28 ก.ย. – กรมควบคุมโรค ร่วมรณรงค์วันหัวใจโลก 2566 เผยปีที่แล้วคนไทยเสียชีวิตโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 7 หมื่นราย ย้ำโรคนี้สามารถป้องกันได้


กรมควบคุมโรคร่วมรณรงค์เนื่องในวันหัวใจโลก วันที่ 29 ก.ย.66 ตามคำขวัญ สหพันธ์หัวใจโลก (The World Heart Federation) คือ USE HEART KNOW HEART : ใช้ใจรับรู้ ดูแล และป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะเมื่อเรารู้มากขึ้นเราก็สามารถดูแลหัวใจได้ดีขึ้น เผยปีที่แล้วคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 7 หมื่นราย ย้ำโรคนี้สามารถป้องกันได้

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ทุกวันที่ 29 กันยายนของทุกปี เป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) ในปี 2566 นี้ มุ่งเน้นให้ประชาชนรับรู้ความสำคัญในการดูแลป้องกันโรคหัวใจ เพราะเมื่อเรารู้มากขึ้นเราก็สามารถดูแลหัวใจได้ดีขึ้น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ระบุว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก ทั่วโลกเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองมากกว่า 20 ล้านคน และ 80% ของการเสียชีวิตสามารถป้องกันได้ สำหรับประเทศไทยจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบการเสียชีวิตของคนไทยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 7 หมื่นราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี สาเหตุเกิดจากหลอดเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจตีบตัน ขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากการสะสมของไขมัน โปรตีน และการอักเสบที่บริเวณผนังด้านในของหลอดเลือด ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ คือ อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ระดับความดันโลหิตที่สูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ระดับไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนและน้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา โดยโรคนี้มักเป็นโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีความเครียดหรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หรือระดับความดันโลหิตได้ตามเป้าหมายการรักษาของแพทย์


นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย หน้าที่สำคัญของหัวใจ คือ การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยทำงานตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดความผิดปกติต่อหัวใจ หัวใจก็จะทำงานหนักขึ้นจนอาจเกิดภาวะหัวใจวายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากหลอดเลือดหัวใจตีบตันส่งผลให้หัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้หัวใจทำงานแย่ลงหรือหยุดทำงานและเสียชีวิตได้อีกด้วย โรคหัวใจและหลอดเลือดมักมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก จุกแน่นกลางอก อาจมีเจ็บร้าวไปที่แขน ใจสั่น เหงื่อแตก อาการเจ็บจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมักจะเริ่มมีอาการตั้งแต่หลอดเลือดหัวใจเริ่มตีบ ควรรีบพบแพทย์ทันทีหากปล่อยทิ้งไว้จนหลอดเลือดหัวใจตันจนหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงจะทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ หากประชาชนมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียวหรือญาติไม่สามารถพาไปโรงพยาบาลได้ เช่น ไม่มีรถ สามารถโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วนหมายเลข 1669 เพราะถ้าหัวใจขาดเลือดจนหัวใจหยุดทำงาน ผู้ป่วยจะหัวใจหยุดเต้นและหมดสติ หากผู้ป่วยหมดสติแล้วควรรีบทำการกดหน้าอกผู้ป่วย ติดเครื่องกระตุ้นหัวใจ AED และโทรเรียกรถพยาบาลที่สายด่วนหมายเลข 1669 ทันที

โรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยหลัก 3อ. 2ส. ดังนี้ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมอารมณ์ ความเครียด ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้มลพิษทางอากาศยังเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก WHO ระบุว่า ทุกๆ ปี ประมาณ 7 ล้านคน หรือ 25% ของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่มีฝุ่น PM 2.5 หากเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงต้องสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้ง และช่วยกันลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 เช่น งดเผาขยะ งดจุดธูป หมั่นเช็กสภาพรถเพื่อลดควันดำ เป็นต้น

นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพของประชาชนในเรื่องปัจจัยเสี่ยง อาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทุกช่องทางของกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการรับรู้และเข้าใจ และการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ช่วยป้องกันหรือรักษาติดตามการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดีในระยะยาว ดังนั้นประชาชนกลุ่มวัยทำงานอายุระหว่าง 25-59 ปี สามารถตรวจคัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ตรวจวัดความดันโลหิต และตรวจเลือดคัดกรองโรคเบาหวาน ได้จากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือประกันสังคมตามสิทธิการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากได้รับการวินิจฉัยเป็นความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานแล้วและควรนัดหมายเข้ารับบริการ ตรวจติดตามและรับยาอย่างต่อเนื่อง ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด และความดันโลหิตให้อยู่ในค่าปกติ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422. -สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

นายกฯ มอบคำขวัญวันเด็กประจำปี 2568

“แพทองธาร” นายกฯ มอบคำขวัญวันเด็ก ประจำปี 2568 “ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง” ระบุรัฐบาลเห็นคุณค่าในตัวเด็กๆ ทุกคน ขอให้ปรับตัวเรียนรู้ ให้เข้ากับสถานการณ์

การจราจรมุ่งหน้าภาคอีสานเริ่มหนาแน่นตั้งแต่เช้า

คนแห่เดินทางกลับฉลองปีใหม่ เส้นทางมุ่งหน้าภาคอีสานเริ่มหนาแน่นตั้งแต่เช้า แต่ยังเคลื่อนตัวได้ ยังไม่เปิดช่องทางพิเศษ

จุดเทียนรำลึก 20 ปี สึนามิ

ค่ำคืนนี้ ที่อนุสรณ์สถานสึนามิบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา สว่างไสวจากแสงเทียนนับพันเล่มที่ถูกจุดขึ้นเพื่อรำลึกถึงบุคคลที่รักซึ่งจากไปในเหตุการณ์สึนามิ เมื่อปี 2547 จากวันนั้นถึงวันนี้ ครบ 20 ปีเต็ม