28 ธ.ค. – กรมควบคุมโรค เตือนสายดื่ม อย่าดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในระยะเวลาสั้นอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
วันนี้ (28 ธันวาคม 2567) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงประเด็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และระยะเวลาอันสั้นนั้น อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ (alcohol intoxication) ตับไม่สามารถขับสารนี้ออกจากเลือดได้ทัน ระบบการทำงานของร่างกายรวนจนเกิดภาวะช็อกที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นสารที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางคล้ายยากดประสาท ซึ่งฤทธิ์นี้จะขึ้นโดยตรงกับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ได้รับ ยกตัวอย่างเช่น การดื่มเหล้าหมดทีเดียว 1 ขวด จะทำให้แอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ถึง 250 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้เสี่ยงต่อการสำลัก อาเจียน หายใจไม่ออก หยุดหายใจ หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตจากการได้รับแอลกอฮอล์เกินขนาด โดยทั่วไป นักดื่มมักจะค่อยๆ ดื่ม จะเป็นการเปิดโอกาสให้ร่างกายได้ค่อยๆ ขับแอลกอฮอล์ออกจากกระแสเลือด ทำให้แอลกอฮอล์ไม่คั่งอยู่ในร่างกายของผู้ที่ดื่มมากนัก
ด้านนายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า การดื่มช่วงแรกระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะอยู่ที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และพฤติกรรมรุนแรง และถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ดื่มจะเกิดอาการสับสน พูดไม่รู้เรื่อง ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ดื่มจะมีอาการง่วง มึนงง และซึม ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป (เหล้าขาว + สี 1.5 – 2 แบน หรือ ¾ – 1 ขวด) ผู้ดื่มจะเกิดอาการสำลัก อาเจียน หยุดหายใจ หมดสติ อาจถึงขั้นเสียชีวิต และปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงระดับนี้ สามารถกดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ และการรู้สึกตัวของผู้ที่ดื่มได้ ดังนั้น การดื่มเบียร์ เหล้า หรือไวน์ปริมาณมาก ในระยะเวลาอันสั้น จึงอาจทำให้ผู้ดื่มหมดสติ ชีพจรช้าลงการหายใจแย่ลง จนถึงหยุดหายใจอันตรายต่อชีวิตได้
นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวในตอนท้ายว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนควรระมัดระวังในการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ อาจมีการจัดโปรโมชั่นที่เกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ การจัดการแข่งขันดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปรวดเดียว ทำให้ร่างกายดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือดได้เร็ว ก่อให้เกิดการกดระบบประสาทส่วนกลางได้ รวมถึงอาจสำลัก อาเจียน หายใจไม่ออก หยุดหายใจ หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งการดูดซึมของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน เหล้าแต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกัน แต่สามารถป้องกันได้โดยการไม่ดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตามไม่ควรดื่มเกินลิมิตของตนเอง เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้โทษมากกว่าคุณประโยชน์ ทั้งนี้ หากพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายสามารถร้องเรียนได้ที่เว็บไซต์ TAS โดยสามารถเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ http://tas.go.th หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 .-411-สำนักข่าวไทย