นนทบุรี 18 ม.ค.-อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศย้ำแม้ไทยยังมีปัญหาแพร่ระบาดสายพันธุ์โอไมครอน แต่มั่นใจแผนเจาะตลาดสินค้าไทยปี 65 ยังขยายตัวได้แน่ 3-4% หรือคิดเป็นเม็ดเงินเข้าประเทศกว่า 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมสั่งทูตพาณิชย์ทั่วโลก รายงานสถานการณ์โอไมครอนทุกสัปดาห์ เพื่อแจ้งเตือนผลกระทบให้ผู้ประกอบการไทยได้ทันท่วงที
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเรืองฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า แม้คาดการณ์ส่งออกไทยในปีนี้ จะชะลอตัวลงจากปี 2564 ที่คาดว่าจะขยายตัวสูงถึง 15% แต่ถือว่ายังขยายตัวท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาดใหม่ทั่วโลก และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่หลายหน่วยงานประมาณการไว้ คาดว่าภาพรวมการส่งออกในปีนี้น่าจะยังขยายตัวเป็นบวกได้ในระดับ 3-4% มูลค่ากว่า 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจัยสนับสนุนมาจากเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัว เพราะการระบาดของโอไมครอนที่หลายประเทศมองว่าถึงจุดสูงสุดแล้ว จึงคาดว่าในครึ่งปีหลังสถานการณ์จะดีขึ้น และเงินบาทที่อ่อนค่า ยังส่งผลดีต่อให้สินค้าไทยแข่งขันได้ดี ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ช่วยให้การเจรจาออนไลน์มีการเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งเขตการค้าเสรีอาร์เซ็ป RCEP ที่มีผลบังคับใช้ในปีนี้ จะช่วยสนับสนุนการส่งออก
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ยังคงเน้นแผนการทำงานเชิกรุก มีกิจกรรมไปบุก ทั้งตลาดหลัก ตลาดรอง และตลาดใหม่ มีทั้งกิจกรรมออนไลน์และออฟไลน์ มีทั้งจับคู่ธุรกิจ และงานแสดงสินค้า รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังในต่างประเทศ และที่สำคัญคือ เร่งทำ Mini FTA กับเมืองใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งจะมีการลงนามภายในไตรมาสแรกนี้ คือ รัฐเตรังคานาของอินเดีย และมณฑลกานซูของจีน รวมไปถึงการยกระดับผู้ประกอบการให้ทันกับทิศทางการค้าของโลก โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model เน้นหนักให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ที่หลายประเทศเริ่มนำมาใช้กีดกันทางการค้ามากขึ้น และยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงของโอไมครอนที่ยังมีความไม่แน่นอน เพราะจะกระทบกับกำลังซื้อ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะถูกจำกัด แต่ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลก รายงานสถานการณ์ทุกสัปดาห์ เพื่อแจ้งเตือนผู้ประกอบการให้รับมือได้ทันท่วงทีกรณีที่เกิดผลกระทบ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง
ส่วนการส่งออกสุกรที่หายไปจากการห้ามส่งออกนั้น ไม่มีผลต่อกระทบใดๆ เนื่องจากไทยส่งออก ทั้งสุกรเป็น-สุกรแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ในสัดส่วนที่น้อยอยู่แล้ว ขณะที่การเตรียมแผนรองรับผลไม้ฤดูกาลใหม่ที่ใกล้จะออกสู่ตลาดนั้น ได้ศึกษาทางเลือกในการส่งออกเพิ่มเติมผ่านทางการบินไว้แล้ว กรณีมีความจำเป็น เพราะอาจจะได้รับผลกระทบจากการขนส่งทางรถ เพราะมีการเปิด-ปิดด่านตามสถานการณ์โควิด แต่อาจจะต้องส่งเน้นผลไม้พรีเมียม เนื่องจากต้นทุนจะเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าการส่งออกผลไม้ปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 15% เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย