พรรคประชาธิปัตย์ 19 ม.ค.-หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าการที่รัฐบาลเตรียมส่งคนเดินสายรับฟังความเห็นเรื่องปรองดอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ไม่ควรยึดตึดกับการลงสัตยาบัน พร้อมแนะเดินไปข้างหน้าและปล่อยให้เรื่องอดีตเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม หากจะนิรโทษกรรมควรให้เฉพาะประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบและความผิดเล็กน้อย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลตั้งคณะทำงานมาดูเรื่องปรองดอง ว่า การที่จะให้คณะกรรมการชุดนี้เดินสายพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่าย ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ยินดีที่จะให้ข้อมูลและถือว่าการใช้วิธีการแบบนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ความปรองดองเดินหน้าไปได้ แต่สิ่งสำคัญจะต้องพูดคุยให้ครอบคลุมทุกฝ่าย รวมทั้งภาคสังคมและประชาชน อย่ายึดติดแค่พรรคการเมือง โดยต้องสรุปบทเรียนให้ถูกว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นล่าสุดไม่ได้เกิดจากพรรคการเมือง แต่เกิดจากความพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ เพราะหากตั้งโจทย์ผิด ก็ไม่สามารถทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายได้ ดังนั้นจึงไม่ควรยึดติดกับการให้พรรคการเมืองมาลงนามสัตยาบัน เพราะพรรคการเมืองไม่สามารถตอบแทนประชาชนทุกคนได้ แต่อยากให้รัฐบาลและทุกฝ่ายย้อนกลับไปดูว่าที่มีปัญหาขัดแย้งกันไม่ได้เกิดจากผลการเลือกตั้ง
“ผมไม่ทราบว่าเนื้อหาสาระที่อยากให้ตกลงทำสัตยาบันกันเป็นอย่างไร แต่อยากย้ำว่าเรื่องของการลงนามในเอกสาร ไม่ได้เป็นหลักประกัน เพราะคนที่ไปลงนามกล้ายืนยันหรือไม่ว่าประชาชนจะเห็นด้วยเหมือนกับตัวเอง เพราะแม้กระทั่งพรรคการเมืองก็พูดไม่ได้ ผมจึงอยากให้นำเรื่องความขัดแย้งมาพูดกันแบบเปิดใจ และที่เคยขอความเห็นฝ่ายต่าง ๆ มา ก็ควรนำมาสรุป ซึ่งผมก็พร้อมที่จะให้ข้อมูล และอยากให้ความขัดแย้งมันจบเร็ว ๆ เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี แต่อย่าเอามาผูกติดกับการเลือกตั้ง ถ้าหวังว่าพรรคการเมืองอยากเลือกตั้ง แล้วให้มาตกลงกัน ถ้าไม่ตกลงแล้วจะไม่มีเลือกตั้ง ผมว่ามันก็ไม่จบ ควรว่ากันด้วยเหตุด้วยผล และผมว่าอย่าจับกันเป็นคู่ขัดแย้ง แต่ผมว่าทุกคนที่มีบทบาทในสังคมควรไปรับฟังความเห็นจากเขา” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า อยากให้คนที่ทำงานด้านความปรองดองคำนึงถึงเนื้อหาสาระและให้นำสิ่งที่คณะทำงานชุดเก่า ๆ เคยศึกษาและสรุปออกมา นำมาประกอบการทำงานสร้างความปรองดอง และสิ่งสำคัญขอยืนยันว่าการทำผิดกฎหมายหรือการใช้ความรุนแรงจะต้องมีความรับผิดชอบ โดยควรปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าทำงาน หากจะยกเว้น ก็ควรนิรโทษให้เฉพาะกรณีของประชาชนที่มาชุมนุมแล้วทำผิดกฎหมายพิเศษและทำผิดเพียงเล็กน้อย ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีก็พูดมาตลอดว่าต้องรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย จึงอยากให้ยึดหลักการในส่วนนี้ และอยากให้มองไปข้างหน้าว่าขณะนี้โลกเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมการปลุกระดมและสร้างความขัดแย้ง โดยผ่านวิทยุชุมชน แต่ปัจจุบันมีอินเทอร์เน็ตและมีสังคมออนไลน์ที่จะต้องเข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มเติม.-สำนักข่าวไทย