วอชิงตัน 17 พ.ย.- นักวิจัยพบว่า คนที่ได้เป็นย่าหรือยายสมองจะทำงานมากขึ้น เพราะมีสัญชาติญาณการดูแลสูงมาก และมีความผูกพันลึกซึ้งกับหลาน ๆ
วารสารราชสมาคมบี (the Royal Society B) ของอังกฤษเผยแพร่ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเอมอรีในสหรัฐที่ใช้การสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อหาตำแหน่งการทำงานของสมอง (fMRI) สแกนสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว และสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจของย่ายายที่มีภูมิหลังด้านฐานะและเชื้อชาติแตกต่างกันจำนวน 50 คน ขณะให้ดูรูปต่าง ๆ กัน มีทั้งรูปหลานวัย 3-12 ปี รูปเด็กที่ไม่รู้จัก รูปลูกตัวเองที่มีเพศเดียวกับหลาน และรูปผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จัก
ผลการศึกษาพบว่า เมื่อดูรูปหลาน ย่ายายจะมีอารมณ์ความรู้สึกเดียวกับหลานในรูป ไม่ว่าสุขหรือเศร้า และสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวจะทำงาน คาดว่าเป็นสัญชาติญาณของการจะเข้าไปอุ้มหรือมีปฏิสัมพันธ์กับหลาน ในทางกลับกันเมื่อดูรูปลูก สมองส่วนที่พยายามทำความเข้าใจจะทำงานมากกว่าส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก นักวิจัยสันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะความน่ารักของเด็ก ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสิ่งมีชีวิตขณะอายุน้อยหลายสายพันธุ์ กระตุ้นให้ผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกอยากดูแล และเมื่อให้ย่ายายที่เข้าร่วมทำการวิจัยตอบแบบสอบถามพบว่า ยิ่งอยากดูแลหลานมากขึ้นเท่าใด สมองส่วนต่าง ๆ จะทำงานมากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ปัญหาใหญ่ที่สุดของการเป็นย่ายายคือ การมีความเห็นเรื่องวิธีเลี้ยงเด็กไม่ตรงกับความเห็นของลูก และต้องเป็นฝ่ายยอมถอย ย่ายายหลายคนพร้อมช่วยเลี้ยงหลาน เพราะมีเวลาว่างมากขึ้นและไม่มีภาระทางการเงินเหมือนเมื่อครั้งเลี้ยงลูก และรู้สึกว่าการเป็นย่ายายเพลิดเพลินมากกว่าการเป็นแม่.-สำนักข่าวไทย